ส.ส.ปชป. ชงรบ. เร่งช่วยธุรกิจกลางคืน แนะส่งงบลงอปท. พัฒนาแหล่งน้ำ พลิกวิกฤต

ส.ส.ปชป. ชงรัฐบาล เร่งเยียวยาธุรกิจกลางคืน ชูพัฒนาแหล่งน้ำ พลิกวิกฤต

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่รัฐสภา ที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระด่วน พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดนั้น ตนขอตั้งข้อสังเกตไว้ 3 เรื่อง 1. เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2563 เริ่มประกาศล็อคดาวน์ ปิดสถานประกอบการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ขณะที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา 5,000 บาทให้พี่น้องประชาชนภายใน 3 เดือน หรือ 90 วัน แต่นับจนถึงขณะนี้เหลือเวลาเพียง 18 วัน ก็จะครบกำหนดแล้ว แต่ยังมีประชาชนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแต่ยังไม่ได้รับการผ่อนปรนในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะยังมีกลุ่มธุรกิจจำนวนหนึ่งที่ยังไม่สามารถกลับมาประกอบการได้ตามปกติ อาทิ ธุรกิจภาคกลางคืน ธุรกิจการท่องเที่ยว ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลได้เตรียมหามาตรการออกมารองรับด้วย

นายอัครเดช กล่าวว่า 2.รัฐบาลได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาให้กับ 4 กลุ่มแรก ประกอบด้วย 1.กลุ่มเกษตรกร 2.กลุ่มอาชีพอิสระ ที่ลงทะเบียนผ่านเวปไซต์เราไม่ทิ้งกัน 3.กลุ่มผู้ใช้แรงงานในระบบ 4.กลุ่มเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ล่าสุด รัฐบาลได้ดำเนินการโอนเงินให้กลุ่มเปราะบาง เป็นกลุ่มที่ 5 คือ กลุ่มเด็กแรกเกิด กลุ่มผู้พิการ และกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว โดยขณะนี้ยังมีอีก 3 กลุ่มที่ยังรอรับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ ก็คือ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางสังคมกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจากการลงพื้นที่แล้วพบว่า ยังมีกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับการบริการ หรือคุ้มครองจากรัฐ หรือเรียกว่า กลุ่มคนชายขอบ ซึ่งไม่สามารถลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ได้ จึงอยากเสนอให้รัฐเข้าไปดูแลเยียวยาคนกลุ่มนี้ โดยอาศัยเครือข่าย อสม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือแกนนำผู้ใหญ่บ้านลงพื้นที่สำรวจเพื่อให้เข้ามาสู่ระบบการเยียวยาด้วย”

นายอัครเดช กล่าวว่า 3.จากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ในพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน อยากให้รัฐนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกร โดยการพัฒนาแหล่งน้ำ เพราะจากการลงพื้นที่ยังพบว่า มีคลองชลประทาน แหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมขาดการดูแลมานาน 10-20 ปี ตั้งแต่มีการกระจายอำนาจถ่ายโอนภารกิจคลองเล็ก หรือคลองไส้ไก่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าดูแล เพราะโอนแต่ภารกิจ แต่ไม่ได้ให้งบไปด้วย จึงอยากให้จัดเงินงบประมาณ 4 แสนล้านบาท ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจตามพ.ร.ก.นี้เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำที่โอนถ่ายภารกิจให้กับท้องถิ่นเข้าดูแล เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้พี่น้องเกษตรกร โดยตนอยากให้มีการตั้งกมธ.วิสามัญเพื่อติดตาม ตรวจสอบการใช้เงินงบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image