แบงก์ชาติ เด้งรับ ส.ส. เอาผิด คนเอาซอฟต์โลนไปปล่อยต่อ ยันเงิน ธปท.ไม่นับหนี้สาธารณะ

แบงก์ชาติ เด้งรับ ส.ส.พร้อมเอาผิด คนเอาซอฟต์โลนไปปล่อยต่อ ชี้ เงิน ธปท.ไม่เป็นนับเป็นหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาะคนรุ่นต่อไป

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่รัฐสภา การอภิปราย พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อฟื้นฟูวิกฤตโควิด  นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า หากสมาชิกพบว่า การปล่อยซอฟต์โลน ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท. ช่วยผู้ประกอบการวิสาหกิจ วงเงิน 5 แสนล้าน มีช่องว่างให้ผู้ประกอบการนำเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ปล่อยกู้ต่อให้กับผู้ประกอบการรายอื่นตามที่อภิปรายนั้น ขอให้แจ้งข้อมูลต่อ ธปท.ตน รีบดำเนินการสอบสวน และหากพบความผิด จะมีมาตรการลงโทษสถาบันการเงิน และสามารถเรียกคืนเงินกู้ได้ เพราะถือว่าทำผิดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ส่วนข้อท้วงติงของการวางเงื่อนไขในการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำนั้น ตามข้อเท็จจริง การดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ต้องแบกรับในภาวะเศรษฐกิจ และวิกฤตจากโควิดที่มีความไม่แน่นอน อีกทั้งสถาบันการเงินมีต้นทุนค่าประกอบการ ส่วนการปล่อยซอฟต์โลนล่าช้านั้น เพราะสถาบันการเงินต้องมีขั้นตอนการพิจารณา และมาตรการการทำงานที่บ้าน เพื่อหยุดเชื้อไวรัสทำให้การพิจารณาต้องใช้ระยะเวลา อีกทั้งแต่ละสถาบันการเงินนั้นมีคำนิยามว่าของเอสเอ็มอีแตกต่างไป จึงทำให้พิจารณาอนุมัติจึงแตกต่างกันไปด้วย

“ที่ผ่านมา ปล่อยซอฟต์โลนไปแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่ง ธปท.ไม่คาดหวังว่า การปล่อยซอฟต์โลนจะออกหมดตามวงเงินเพราะต้องคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดที่สร้างผลกระทบด้วย แต่เจตนาสำคัญ​เพื่อช่วยเยียวยาเอสเอ็มอี รวมถึงฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ช่วงระบาดไวรัสทำให้ภาวะการเงินไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาครัฐต้องเข้าร่วมค้ำประกันความเสียหาย ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างภาระทางการคลังมากเกินไป ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับต้องปรับตัวให้กับเข้าโลกวิถีใหม่ ไม่ใช่มุ่งใส่เงินเท่านั้น เพราะหากอนาคตไม่ปรับตัว และใช้เงินเป็นตัวนำ อาจทำให้มีมูลค่าหนี้สูงขึ้น และทำให้การปรับโครงสร้างหนี้ทำได้ยาก” นายวิรไทกล่าว

นายวิรไทกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ซอฟต์โลนเป็นเพียงกลไกในหลายมาตรการของรัฐบาลที่จะดำเนินการเพื่อช่วยเอสเอ็มอี เพราะยังมีมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้​พักชำระดอกเบี้ย ทั้งนีมาตรการช่วยเหลือ ตาม พ.ร.ก.นั้น พบว่า มีเอสเอ็มอีที่มีเงินลงทุน 500 ล้านบาท ไม่ต่ำกว่า 1.7 ล้านรายได้รับอานิสงส์ และไม่เฉพาะเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าธนาคารพาณิชย์เท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ประชาชนที่กู้เงินในนามผู้ประกอบการเพื่อทำธุรริจด้วย ทั้งนี้ พ.ร.ก.รักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท นั้นไม่ควรเรียกว่าเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน เพราะเป็นเพียงกลไกเพื่อใช้รักษาสภาพคล่องของ ธปท.​ต่อการปล่อยให้สถาบันการเงิน เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อครบกำหนดสถาบันการเงินต้องนำเงินมาจ่ายคืนให้ ธปท. ซึ่งไม่นับว่าเป็นหนี้สาธารณะ และไม่สร้างภาระคนรุ่นต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image