‘ไอติม’ ยก 2 สมการ 3 ทางแก้ ปม ‘ส.ว.’ ลั่นถึงเวลาพิจารณา ‘สภาเดียว’

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน มีการจัดเวทีแสวงหาฉันทามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย : New Consensus โดยมีเสวนาในหัวข้อ “ส.ว.ไทย อย่างไรต่อดี ?” ผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพจ “New Consensus Thailand” ดำเนินรายการโดย นายณัชปกร นามเมือง  เจ้าหน้าที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ในตอนหนึ่ง นายพริษฐ์ วัชรสินธุ กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวว่า ก่อนตอบคำถามว่า “ส.ว.ไทย อย่างไรต่อดี ?” ต้องย้อนดูว่า เราต้องการเห็นประเทศยึดโครงสร้างหลักอะไรบ้าง ส่วนตัวมอง 3 คุณค่าคือ 1.กติกาที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ควรจะเป็นกลาง ไม่ควรเขียนให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ 2.คุณค่าความเป็นประชาธิปไตย 3.คุณค่าด้านการออกแบบโครงสร้างประเทศให้รัฐมีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

คำตอบเรื่อง ส.ว. ตอนนี้เปลี่ยนไป ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไป หากมองเฉพาะระบบ ส.ว.ไทย ปัจจุบันไม่ผ่านด่านคุณค่าที่ 2 การออกแบบโครงสร้างขัดหลัก ปชต. ทั้งหมด 2 สมการด้วยกัน

สมการที่ 1 คือ ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน การให้ ส.ว.250 มาโหวตเลือกนายกฯได้ จึงไม่สอดคล้องกับสมการนี้ ซึ่โครงสร้างปัจจัน ส.ว.1 คน มีอำนาจเท่าประชาชน 2 ล้านคน

Advertisement

สมการที่ 2 คือ อำนาจและที่มามีความสอดคล้องกัน เมื่ออำนาจาสูงสุดเป็นของประชาชน องค์กรอิสระจึงต้องยึดโยงกับประชาชนมากสุด ซึ่งก็คือผ่านการเลือกตั้ง โดย สว.ปัจจุบัน มีอำนาจบางส่วนสืบเนื่องมาจาก ส.ว. ปี 2540 ไม่ว่าจะ อำนาจในการแต่งตั้งกรรมการในองค์กรอิสระ และอำนาจในการตรวจสอบฝ่ายบริหาร แต่ในปี 2560 ส.ว. มีอำนาจเพิ่มมาอีก ที่สำคัญคืออำนาจในการยับยั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในเชิงเทคนิคแบบเดิมต้องได้รับเสียงเกินครึ่งของ 2 สภารวมกัน หมายความว่าหาก ส.ส. เห็นตรงกันทั้งหมด ส.ว.ก็ยับยั้งไม่ได้ แต่ปี 2560 เขียนไว้ว่าจะต้องได้รับการยินยอมจาก ส.ว. 1 ใน 3 ส.ว.สามารถยับยั้งได้ อำนาจขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน แต่หากพลิกดูที่มาจะพบว่ายิ่งไม่ยึดโยงกับประชาชน เป็นการแต่งตั้ง ซึ่งมีปัญหาเยอะมาก ความต้องการดึงผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพต่างๆ เข้ามา เราจะเห็นว่า 104 ใน 250 คนเป็นทหาร และตำรวจ คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งไปกว่านั้น คณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งเพื่อคัดเลือก ส.ว.ขึ้นมา มี 10 คน 6 คนเข้ามาเป็น ส.ว.เอง อีก 3 คน คัดเลือกพี่น้องเข้ามา จึงมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอีกชั้น ไม่ใช่แค่ว่าที่มาของ ส.ว. ด้อยในทางประชาธิปไตย แต่กระบวนการแต่งตั้งก็ไม่ได้นำมาซึ่งบุคลากรที่มีความหลากหลาย ดังนั้น ส.ว.จึงยังไม่ตอบโจทย์ 3 เสาคุณค่าหลัก

นายพริษฐ์กล่าวว่า ทางแก้มี 3 วิธี คือ

Advertisement

1.ลดอำนาจ เช่น วุฒิสภาของสหราชอาณาจักร (House of Lords) แม้จะมาจากการแต่งตั้ง แต่ ส.ว.มีอำนาจน้อยมาก ทำได้มากสุดคือการยับยั้งกฎหมายไว้ 1 ปี ไม่สามารถปัดตกได้ หรือกฎหมายเกี่ยวกับบประมาณ ปัดตกได้มากสุด 1 เดือน ทั้งยังมีประเพณีปฏิบัติ ที่หากดำเนินกฎหมายที่หาเสียงไว้ ส.ว.ไม่ควรยับยั้ง สหราชอาณาจักรจึงอยู่ได้เพราะอำนาจ ส.ว.มีน้อยมาก

วิธีที่ 2. ส.ว.มีอำนาจมากก็ได้ แต่ให้มีการเลือกตั้ง โดยออกแบบการเลือกตั้งที่ไม่ให้ได้ ส.ว.มีที่มาเหมือน ส.ส. เช่น สหรัฐราชอาณาจักร มี ส.ว. 2 คนต่อรัฐไม่ว่าปีระชากรจะเท่าใดก็ตาม และยังมีการจัดกระบวนการเลือกตั้งแยกกันระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. ซึ่งทุก 3 ปี จะมีการเลือกตั้ง 1 ใน 3 ของ ส.ว.ที่มีวาระทั้งหมด 6 ปี ให้มีการสลับเข้า-ออก เพื่อถ่วงดุลอำนาจไม่ให้ฝ่ายใดถือครองอำนาจอย่างยาวนาน หรือวิธีที่สุดท้าย

3.ไม่ต้องมี ส.ว.

ถามว่าทางเลือกใดเป็นกระแสหลักของโลก ทางใดจะเหมาะกับไทย ต้องบอกว่า ปัจจุบันนิยมสภาเดียวมากว่าสภาคู่ แต่เราควรมองประเทศที่มีคุณสมบัติคล้ายประเทศไทย ที่เป็นรัฐเดียว ซึ่งจะเหลือ 31 ประเทศ 20 ประเทศใช้สภาเดียว 7 ประเทศใช้สภาคู่ และใช้ ส.ว.จากการเลือกตั้ง มีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่ใช้ระบบสภาคู่ และ ส.ว. แต่งตั้ง จะเห็นว่ากระแสหลักของโลกทยอยมาเป็นสภาเดียวมากขึ้น เป็นกรอบที่สามารถวางได้หากรูปแบบ ส.ว. ปัจจุบันยังไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างน้อย 3 ทางนี้ จะไม่ขัดกับคุณค่าหลักของประเทศ

“ส่วนตัวค่อนข้างเอนไปทางสภาเดียว เพราะ 1.เมื่อเราบอกกว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น การถอด หรือการปรับกฎหมายเก่าๆ จะมีความจำเป็นมากขึ้น เพราะหากลดระยะเวลาพิจารณากฎหมาย ประเทศก็น่าจะคล่องขึ้น 2.หากไม่มี ส.ว.เราสามารถประหยัดได้อย่างน้อย 1,140 ล้านบาท/ปี อาทิ 340 ล้านบาทจากเงินเดือน ส.ว. ท่านละ 113,000 บาท เงินเดือนผู้ชำนาญการ ผู้ช่วย ส.ว. อีก 340 ล้าน/ปี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประมาณ 200 ล้าน/ปี และค่าสรรหา ส.ว. 1,300 ล้านบาท เฉลี่ย 5 ปี ตกปีละ 260 ล้าน

อย่างไรก็ดี หากเราจะไปในทางวุฒิสภาแต่งตั้งแต่มีอำนาจน้อย คำถามคือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้ผู้เชี่ยวชาญจากหลากสาขาอาชีพ ส่วนวิธีจากการแต่งตั้ง ก็จะมีปัญหาเรื่องระบบการเลือกตั้งที่จะแตกต่างจาก ส.ส.ได้อย่างไร เราจะจัดกลุ่มอาชีพอย่างไรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่อาชีพเพิ่มมากขึ้น

สุดท้าย ที่มองว่าสภาเดียวเหมาะสม เพราะสิ่งที่คาดหวังให้ ส.ว.ทำ อาจมีกลไกที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า เช่น หากคาดหวังให้ ส.ว.มีหน้าที่ให้ความเชี่ยวชาญ ก็เข้ามาได้ใน กรรมาธิการ หากว่ามีไว้เพื่อปกป้องจังหวัดที่ประชากรไม่มาก การกระจายอำนาจก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า หากบอกว่ามี ส.ว.เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการองค์กรอิสระ ส่วนตัวมองว่าหน้าที่นี้สามารถอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยวางกฎเกณฑ์เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นกลาง หรืออาจไปถึงขั้นกรรมาธิการทุกคนต้องได้รับเสียงข้างมากจากทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ส่วนมี ส.ว.ไว้เพื่อถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ก็มองถึงการเปิดกว้างทางข้อมูลของส่วนกลาง หรือภาครัฐ ที่ควรจะติดอาวุธให้ประชาชนตรวจสอบประสิทธิภาพได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีการตรวจสอบรัฐบาลที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี และโลกยุคใหม่มากกว่า

หากกังวลว่า ไม่มี ส.ว.แล้วจะไม่มีการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ส่วนตัวมองว่า ที่อันตรายกว่าน่าจะเป็นการมี ส.ว.ที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อให้ท้ายฝ่ายบริหาร จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะพิจารณาเรื่องของสภาเดียว” นายพริษฐ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image