‘ป.ป.ท.’ ตั้ง 4 กลไกกรองใช้งบโควิด 4 แสนล้าน เปิดเว็บเช็กโครงการ

‘ป.ป.ท.’ ตั้ง 4 กลไกกรองใช้งบโควิด 4 แสนล้าน เฝ้าระวังทุจริต เปิดเว็บเช็กโครงการ-แจ้งเบาะแสพิรุธ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 22 มิถุนายน ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ โดยมี พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เข้าร่วมการประชุม ทั้งนี้ ที่ประชุมมีวาระพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนงานตามกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ท.เสนอ

โดยนายวิษณุ กล่าวก่อนการประชุมว่า ศอตช. จะเป็นศูนย์กลางรับเรื่องราวร้องเรียนของประชาชนที่กล้ารายงานความไม่โปร่งใส โดยจะเป็นผู้ประสานงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเป็นศูนย์อำนวยการกลางในการบูรณาร่วมกับการบริหาร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ป.ป.ท. และที่ไม่ใช่ฝ่ายบริหาร รวมถึงองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งมีภารกิจหลัก 4 ด้าน ประกอบด้วย เป็นศูนย์กลางอำนวยกลาง บูรณาการด้านข้อมูล รับเรื่องร้องเรียน รวมถึงแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการทุจริตและประพฤติมิชอบ

ขณะที่ พ.ต.ท.วันนพ กล่าวภายหลังการประชุม ว่า สำนักงานป.ป.ท.ได้นำเสนอต่อ ศอตช. ถึงกลไกในการตรวจสอบ 4 ด้านในการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณ 400,000 ล้านบาท จากพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เป็นไปอย่างมีคุณค่าและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งกลไกนี้ประกอบด้วย 1.การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส ซึ่งมีการกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงานหรือโครงการนั้นๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณ และความคืบหน้าโครงการ 2.การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบต้องทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ก่อนการดำเนินงานตามแผนงานต่างๆ โดยให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) เป็นผู้ขับเคลื่อน แล้วส่งให้ศอตช.วิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะ 3.การตรวจสอบข้อเท็จจริง ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยหรือได้รับแจ้งเบาะแสการทุจริต ซึ่งศอตช.จะตรวจสอบทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินโครงการนั้นๆ และให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรายงานข้อเท็จจริงต่อ ศอตช. และ 4.การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำผิด ตามมาตรการทางปกครอง วินัย และอาญา อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม

เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ป.ป.ท.ได้เปิดเว็บไซต์ www.pacc.go.th เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปดูว่าโครงการต่างๆ ของรัฐที่ใช้วงเงินงบประมาณดังกล่าวมีรายละเอียดอย่างไร พร้อมใช้เป็นช่องทางรับแจ้งเบาะแสต่างๆ ถ้าประชาชนพบเห็นข้อพิรุธใดๆ หรือสามารถส่งข้อมูลมาได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณฯ ศอตช. สำนักงานป.ป.ท. ชั้น 23 อาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 11120 หมายเลขโทรศัพท์ 02-502-6670-80 ต่อ 4230 โทรศัพท์สายด่วน 1206 ซึ่งเราจะปกปิดข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส สำหรับการตรวจสอบนั้น ป.ป.ท.จะบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆใน ศอตช. เข้าไปตรวจสอบแต่ละโครงการ ทั้งนี้ ป.ป.ท.ได้ตรวจสอบการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 73 หน่วยงาน ใน 37 จังหวัด ซึ่งเราตรวจพบความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. 28 แห่ง ใน 17 จังหวัด มีพฤติกรรมที่แบ่งเป็น 16 ประการ เช่น การจัดซื้ออุปกรณ์ในราคาสูงเกินจริง เมื่อเทียบกับราคาหรือคุณสมบัติของวัสดุในสถานการณ์นั้น การจัดซื้อโดยไม่มีหลักฐานการสืบราคา หรือทำเอกสารเท็จอ้างว่ามีการสืบราคา เป็นต้น โดยส่วนใดเข้าข่ายความผิดทางอาญา เราได้ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งป.ป.ท.ส่งเรื่องให้ป.ป.ช.แล้ว 3 สำนวน ส่วนเรื่องใดที่เป็นการกระทำผิดของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ป.ป.ท.จะส่งให้หน่วยงานต้นสังกัดของผู้นั้นดำเนินการสอบสวนวินัยและทางปกครองต่อไป

Advertisement

เมื่อถามว่า การที่อปท.บางแห่งแจกเงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ถือว่ามีความผิดหรือไม่ เลขาธิการป.ป.ท. กล่าวว่า ที่ประชุมศอตช.ได้หารือถึงเรื่องนี้ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยชี้แจงว่าการแจกเงินช่วยเหลือดังกล่าวต้องดำเนินการตามระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเราต้องไปตรวจสอบเป็นรายกรณี และต้องดูระเบียบดังกล่าวว่าอปท. สามารถให้เงินช่วยเหลือแก่ใครได้บ้าง มีหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอย่างไร แต่ถ้าไม่ทำตามหลักเกณฑ์ ก็ถือว่ามีความผิดเช่นกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image