‘กนก’ ชี้ แจกเงินไม่ยั่งยืน แนะรัฐ เร่งสร้างงาน อุ้มธุรกิจขนาดเล็กให้มีเงินหมุนเวียน

‘กนก’ ชี้ แจกเงินไม่ยั่งยืน แนะรัฐ เร่งสร้างงาน อุ้มธุรกิจขนาดเล็กให้มีเงินหมุนเวียน

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นเรื่อง รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนมีรายได้ (ที่ไม่ใช่การแจกเงิน) โดยระบุว่า

1.

สถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบากขณะนี้ ส่งผลกระทบไปทั่วทุกหย่อมหญ้า ปัญหาที่ทุกคนกำลังเผชิญ คือ การขาดรายได้ เพราะไม่มีงานทำ หรือธุรกิจที่ทำอยู่ ไม่มียอดขาย มีแต่รายจ่าย ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คือการทำให้คนมีรายได้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้ทำไปแล้ว คือการมอบเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน

สำหรับเงินจำนวนดังกล่าวนี้ ในเบื้องต้นก็พอประทังชีวิตให้ผ่านไปได้ เสมือนเป็นการต่อลมหายใจไปอีกสักระยะหนึ่งเท่านั้น เพราะปัญหาไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เมื่อผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด 19 นี้ ยังคงสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และยากจะคาดเดาได้ว่าจะไปจบลงเมื่อไหร่ ดังนั้น ความเดือดร้อนของประชาชนจึงยังคงไม่หายไปไหน และอาจจะเลวร้ายขึ้นทุกขณะ

Advertisement

คำถามก็คือว่า ถ้ารัฐบาลมีงบประมาณเหลือพอ ควรต่อมาตรการเยียวยา 5,000 บาทออกไปอีก 3 เดือนไหม ซึ่งถ้าผ่านไปอีก 3 เดือน แล้วทุกอย่างยังไม่คลี่คลาย รัฐบาลก็คงจะต่อเงินเยียวยาไปอีก 3 เดือนเรื่อยไปแบบนี้ไม่ไหวอย่างแน่นอน จึงต้องกลับมาตั้งต้นกันใหม่ว่า เมื่อรายได้ประชาชนหายไป การมอบเงินช่วยเหลือให้ตลอดไปรัฐบาลคงทำไม่ไหว ดังนั้น รัฐบาลจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้ โดยที่ไม่ต้องแจกเงิน

2.

ผมเชื่อว่า การสร้างงานเป็นหัวใจของการแก้ปัญหานี้ เพราะเมื่อมีงานป้อนให้กับประชาชนที่อยู่ฐานรากซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ พวกเขาก็จะมีรายได้ และนั่นก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการจับจ่ายใช้สอยที่นำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับจุดต่อๆ ไปในห่วงโซ่เศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ตรงนี้เป็นตรรกะปกติทั่วไปในการแก้ไขปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การสร้างงานในระดับฐานรากจึงเป็นน้ำมันหล่อลื่นอย่างดีที่จะไปกระตุ้นให้ฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาคขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางอีกครั้ง

Advertisement

สำหรับการสร้างงานในระดับฐานราก ก็แบ่งเป็น 2 แนวทางสำคัญ คือ 1. การปรับตัวไปเป็นเกษตรกร หรือผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นหนทางที่ต้องใช้ทักษะทางด้านการเกษตร หรือการค้าขาย ที่แต่ละคนพอมีพื้นฐานมาจากครอบครัว บวกกับการเรียนรู้และการฝึกฝนของตนเอง ที่ได้มาจากการทำงานในเมืองใหญ่ หรือบริษัทที่ทันสมัย อาทิ การตลาด เทคโนโลยี การบริหารจัดการ เป็นต้น

รูปแบบความรู้ทั้งสองด้านนี้ สามารถช่วยให้เรามองเห็นโอกาสใหม่ๆ ของการเกษตร เช่น การปลูกพืชที่สร้างรายได้สูง (กว่าในอดีต) การขายออนไลน์ตรงไปยังผู้บริโภค ไปจนถึงการแปรรูป เพิ่มมูลค่า และทำให้ผลิตภัณฑ์ดูทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า และตลาดทั่วไป เป็นต้น

3.

หรือการไปเป็นผู้ประกอบการรายย่อย จะทั้งลงทุนเอง หรือรับช่วงต่อจากครอบครัว ก็สามารถที่จะนำหลักการบริหารไปช่วยลดต้นทุนการทำธุรกิจ การเปิดช่องทางการขายใหม่ๆ หรือปรับปรุงและพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า และสามารถแข่งขันได้ ไปจนถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ ให้ลูกค้าอยากซื้อสินค้ามากขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น กระบวนการนำความรู้ใหม่ๆ จากเมืองใหญ่ หรือบริษัทที่ทันสมัย นำไปผสมผสานกับประสบการณ์ในการทำเกษตร หรือธุรกิจในท้องถิ่น (ห่างไกล) จึงเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มีความสำคัญต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นสำหรับคนว่างงานจากการปิดตัวลงของบริษัททันสมัย หรือการถูกเลิกจ้างในเมืองใหญ่ นี่เป็นพื้นที่ปลายทางสำหรับพวกเขาเหล่านี้

ส่วนต้นทางและกลางทางนั้นต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ว่าจะทำอย่างไรถึงจะลำเลียงคนว่างงานให้กลับคืนสู่ระบบเศรษกิจฐานราก หรือการประกอบการในท้องถิ่น (ชนบท) ได้ และดำเนินการให้ประสบความสำเร็จตามรูปแบบที่นำเสนอไป นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องคิดให้ได้ และต้องทำให้เป็น

ต่อมา คือ 2. การรักษางานในบริษัทหรือร้านค้าที่ยังคงประกอบกิจการอยู่ นี่ก็ถือเป็นการสร้างงานในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะถ้าธุรกิจดีและไปได้ในสถานการณ์เช่นนี้ นอกจากจะรักษาแรงงานที่อยู่ในการดูแลได้แล้ว ในอนาคตอาจจะสามารถรับแรงงานเพิ่มเติมได้อีกด้วย ซึ่งก็ถือเป็นการสร้างรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เห็นผลไว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์ปัจจุบัน

4.

บริษัทหรือร้านค้าที่มีจำนวนการจ้างงานสูงในระดับ 10 ล้านคน อย่าง “ไมโครเอสเอ็มอี” (Micro SMEs) ถือเป็นกลุ่มที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ เพราะพวกเขาเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของประเทศ ถ้าล้มหายตายจากไปเมื่อไหร่ ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยคงยากที่จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีกครั้ง ส่วนเรื่องก้าวไปข้างหน้าก็คงแทบเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว ดังนั้น การจัดการกับปัญหาที่กลุ่มไมโครเอสเอ็มอีกำลังเผชิญนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการในทันที และต้องมีประสิทธิภาพ

สำหรับเรื่องแรกเลยก็คือ การขาดกระแสเงินสดที่จะประคองธุรกิจให้อยู่รอด เนื่องจากการปิดเมือง ปิดงานกว่า 3 เดือน ทำให้ธุรกิจเหล่านี้รายได้เป็นศูนย์ มีแต่รายจ่ายที่ต้องเอามาจากเงินทุนสำรองที่แต่ละบริษัทเก็บไว้ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 9 เดือนแล้วแต่สภาพคล่องในธุรกิจ ซึ่งหนทางแก้ไขก็คือ การอนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากทางสถาบันการเงิน เพื่อนำมาเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจต่อไป

ในส่วนนี้ทางรัฐบาลก็มีมาตรการปล่อยเงินให้สถาบันการเงินต่างๆ นำไปให้สินเชื่อแก่ธุรกิจระดับไมโครเอสเอ็มอีเหล่านี้แล้ว แต่ปัญหาก็คือ มีเพียง 1 ใน 5 ของวงเงินทั้งหมดที่ได้ถูกใช้ไปเท่านั้น เพราะสถาบันการเงินมีความไม่มั่นใจในกลุ่มธุรกิจบางบริษัทในการใช้เงินคืนตามเวลาที่กำหนด หรือการกลัวว่าจะกลายเป็นหนี้เสีย จึงไม่อนุมัติสินเชื่อกับบริษัทเหล่านั้น และบางบริษัทก็คิดว่าได้ไม่คุ้มเสีย เมื่ออัตราดอกเบี้ยและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตไม่ตอบโจทย์การไปต่อของธุรกิจ จึงเลือกที่จะปิดตัวลงเพื่อควบคุมความเสียหายไม่ให้บานปลายกลายเป็นหนี้พอกพูนกว่าเดิม

5.

ดังนั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องหาทางให้สถาบันการเงินต่างๆ ปรับเงื่อนไข กฎเกณฑ์ รวมไปถึงทัศนคติ ในการให้สินเชื่อในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ เพื่อที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กมากๆ จะสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างสะดวก

ส่วนประเด็นเรื่องความสามารถในการแข่งขัน ศักยภาพในการดำเนินกิจการ ในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจทั่วโลกแบบนี้ ก็คงหนีไม่พ้นสถาบันการเงินและรัฐบาล ควรต้องเข้าไปให้คำปรึกษา ช่วยในการปรับแผนธุรกิจ วางระบบบริหารจัดการและการตลาด รวมไปถึงการแนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับการยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ให้แก่บรรดาผู้ประกอบการขนาดเล็กเหล่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขารักษากิจการให้คงอยู่ หรือพัฒนากิจการให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป

ถ้าสามารถปลดข้อจำกัดเรื่องสินเชื่อ และเติมศักยภาพด้านการแข่งขันให้แก่ “ไมโครเอสเอ็มอี” ได้อย่างครบถ้วน ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ทั้งการรักษาตำแหน่งงาน การสร้างงาน การยกระดับทักษะในงาน การหมุนเวียนของรายได้จากแรงงานสู่ระบบอื่นๆ การแข่งขันในระดับประเทศ การแข่งขันในระดับโลก และการหมุนเวียนของรายได้ และอัตราภาษี ที่จะเคลื่อนเข้าสู่ทุกภาคส่วน รวมไปถึงงบประมาณของรัฐบาลในปีต่อๆ ไป ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ

6.

โดยสรุปแล้ว ปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลในตอนนี้ ภายหลังสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น การแจกเงินให้ประชาชน ไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืน และไม่ใช่หนทางในการแก้ปัญหา เป็นแต่เพียงการช่วยบรรเทาในระยะเวลาสั้นๆ

แต่การแก้ปัญหาที่แท้จริง คือการทำให้ประชาชนมีรายได้ด้วยการทำงาน ไม่รอ ไม่ขอ มุ่งมั่นที่จะยืนหยัดด้วยกำลัง ความสามารถ ทักษะ ความรู้ และความเชี่ยวชาญของตนเอง โดยรัฐบาลต้องมีหน้าที่ในการส่งเสริม และสนับสนุนทั้งเรื่องของเงินทุน องค์ความรู้ และการจัดการกับอุปสรรคต่างๆ ที่ขัดขวางการทำมาหากินของประชาชน ผ่านนโยบาย งบประมาณ และการบริหารระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ที่จะนำไปสู่การสร้างงานในระดับฐานรากสำหรับผู้ที่กำลังว่างงาน หรือนักศึกษาจบใหม่ เพื่อซ่อมแซมรากฐานของระบบเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง และการรักษางาน สำหรับผู้ประกอบการทั่วไป เพื่อป้องกันไม่ให้กลไกของระบบเศรษฐกิจต้องเสียหายไปมากกว่านี้

ทั้งหมดที่นำเสนอมานี้ ไม่ใช่ความฝัน ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่เป็นสิ่งที่ทำได้จริง และสามารถปฏิบัติได้ทันที เพราะนี่คือสิ่งที่ประชาชนควรจะได้รับ มากกว่าแค่เงินแจกจากทางรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image