‘กุลธิดา’ ชวน ‘ครู’ ร่วมกันไม่ส่งต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสถานศึกษา

‘ครูจุ๊ย’ ชี้ ไม่มีใครมีสิทธิเหนือร่างกายคนอื่น ลั่น ครูมีหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของนร. เผย อะไรที่เคยทำมาไม่จำเป็นว่าดีงามเสมอไป ชวนร่วมกันไม่ส่งต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสถานศึกษา

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ทุกเปิดเทอมเรื่องทรงผมจะผุดขึ้นมาให้เป็นที่ถกเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้น บทสนทนาและวาทกรรมที่มีมานานยังวนเวียนมาให้ได้ยินไม่เปลี่ยนแปลง แปลง่ายๆ ว่าเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้คนยังไม่เข้าใจ กระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังไม่รู้ประสาอะไร ระเบียบทรงผมและการลงโทษเป็นสองเรื่องที่เชื่อมโยงกัน แต่ต้องพิจารณาแยกกัน กระทรวงศึกษาธิการมีอำนาจในการออกระเบียบว่าด้วยเรื่องทรงผมของนักเรียน แต่ก็มีหน้าที่ในการทำให้โรงเรียนต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของตน เข้าใจและปฏิบัติตามระเบียบเหล่านี้ให้ได้ แต่กลับทำไม่ได้ดีนัก หลักฐานเชิงประจักษ์เห็นจะเป็นการใช้อำนาจออกระเบียบที่ปฏิบัติไม่ได้จริงออกมา

น.ส.กุลธิดา กล่าวต่อว่า คำถามชวนคิดคือ กระทรวงศึกษาธิการมีความตั้งใจจริงหรือไม่ในการสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ที่ระบุเอาไว้กว้างๆ ว่านักเรียนสามารถไว้ทรงผมสั้นหรือยาวก็ได้แต่ต้องจัดการให้เรียบร้อย และสถานศึกษาต้องยอมให้ผู้ปกครอง นักเรียน และชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบกฎ แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ขอให้ยึดระเบียบข้างต้นเป็นสำคัญ ไม่เห็นจะซับซ้อน แต่โรงเรียนบางโรงไม่ทำตามระเบียบ ส่วนกระทรวงฯ เองก็ทำหน้าที่อยู่ไม่กี่อย่าง อันได้แก่ หนังสือชี้แจง หนังสือซักซ้อม และคู่มือศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียนหรือแม้กระทั่งตัวศูนย์เฉพาะกิจเอง ทั้งหมดได้กลายเสือกระดาษโดยสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นรายงานที่กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎรได้รับคือ ศูนย์เฉพาะกิจนี้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเด็กรวมกันถึงสามกรณีในปีที่แล้ว สะท้อนความล้มเหลวของกระบวนการตรวจสอบร้องเรียนครูและสถานศึกษาอย่างชัดเจน

น.ส.กุลธิดา กล่าวว่า เมื่อไม่มีใครต้องรับผิดชอบ แปลง่ายๆ คือไม่มีใครหรือกระบวนการใดจะดูแลคุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของผู้เรียน ทั้งที่เป็นเหยื่อ และผู้แจ้งข่าว ภายใต้หน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ความรับผิดรับชอบ หรือ accountability ของโรงเรียนและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมาในรูปแบบของกฎหมายและจรรยาบรรณวิชาชีพนั้นควรเกิดขึ้นพร้อมระเบียบ มิเช่นนั้น ระเบียบจะกลายเป็นกระดาษไปทันที เช่น หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง สังคมเราเน้นลงโทษนักเรียน แต่ผู้ใหญ่ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกลับไม่ได้รับผลกระทบใด นี่ไม่ใช่สังคมที่ตนคนหนึ่งอยากเห็น ไม่ควรมีใครต้องกลัวการปกป้องตนเอง
ผิดต้องลงโทษ

เมื่อทำผิดก็ต้องลงโทษ ประเด็นนี้ถกเถียงกันไม่จบสิ้น ผิดกฎแล้วลงโทษได้ แต่เราอยู่กันเป็นสังคมที่ศิวิไลซ์แล้ว แม้กระทั่งการลงโทษเราก็ทำข้อตกลงกันตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2548 โดยกำหนดบทลงโทษไว้ 4 สถาน ได้แก่ ว่ากล่าวตักเตือน ทำทัณฑ์บน ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และยังระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ห้ามลงโทษนักเรียนด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท
แต่แม้ว่านักเรียนจะเกิดการทำผิดระเบียบ เรื่องแรกที่ควรทำคือการพูดคุยทำความเข้าใจ การตักเตือนด้วยเหตุผล การลงโทษควรใช้ในกรณีที่การพูดคุยตักเตือนใช้ไม่ได้ผล มิใช่เริ่มที่ผิดแล้วทำโทษทันที
เมื่อกล่าวเช่นนี้กรณีการลงโทษพิสดารต่างๆ มากมาย ที่ลงมือถึงเนื้อถึงตัวนักเรียนหรือทำให้อับอาย ล้วนผิดระเบียบทั้งสิ้น (อ้างอิงถึงแค่สองระเบียบนี้ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรงเรียน ครู และนักเรียน โดยยังไม่รวมถึงพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 หรือมาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา)

Advertisement

“ท้ายที่สุดทั้งหมดที่ดิฉันกล่าวไปจะเกิดขึ้นได้หากกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหาร ครู อาจารย์เข้าใจตรงกันว่าไม่มีใครมีอำนาจเหนือสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของใคร ผู้ใหญ่ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาล้วนมีหน้าที่พิทักษ์ ดูแล และปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของนักเรียน อันเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งยวดของการศึกษาในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต อะไรที่เคยทำไม่จำเป็นว่ามันจะดีงามเสมอมา และตลอดไป ร่วมกันไม่ส่งต่อวัฒนธรรมอำนาจนิยมทุกรูปแบบในสถานศึกษา โรงเรียนต้องปลอดภัยสำหรับทุกคน” น.ส.กุลธิดา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image