‘ชาตรี’ เปิดเรื่อง ‘ไม่ถูกเล่า’ ของอนุสาวรีย์ เผย ‘ศิลป์ พีระศรี’ แนบแน่นจอมพล ป.

‘ชาตรี’ เปิดเรื่อง ‘ไม่ถูกเล่า’ ของอนุสาวรีย์ เผย ‘ศิลป์ พีระศรี’ แนบแน่นจอมพล ป.

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่หอประติมากรรมต้นแบบ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน เขตพระนคร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน จัดกิจกรรม ‘Book Walk เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในประวัติศาสตร์บนราชดำเนิน’ โดยมี รศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ผู้เขียน ‘ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ เป็นวิทยากร

รศ.ดร. ชาตรี กล่าวว่า พื้นที่บริเวณหอประติมากรรมต้นแบบนี้ ในอดีตเป็นโรงปั้นของกรมศิลปากรเดิม ใชัปั้นประติมากรรมตั้งแต่ก่อนก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวอาคารสร้างในยุค 2500 ต้นๆ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และใช้งานมาจนถึง ราว พ.ศ.2530 ซึ่งต้องขยับขยายเพราะอนุสาวรีย์มีมากขึ้น จึงย้ายไปยังพุทธมณฑลสาย 5 โรงหล่อนี้ถูกเลิกใช้ไป กรมศิลปากรจึงปรับเปลี่ยนเป็นหอประติมากรรมต้นแบบเปิดให้ประชาชนเข้าชม เก็บรักษาและจัด แสดงประติมากรรมซึ่งขั้นตอนในการสร้างอนุสาวรีย์นั้น ต้องปั้นแบบสเกตซ์ แล้วขยายเสกล สุดท้ายยังเป็นปูนปลาสเตอร์แล้วจึงหล่อโลหะ โดยจุดที่ใช้หล่ออนุสาวรีย์ในอดีตคือพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนี้นั่นเอง

สำหรับรูปแบบสถาปัตยกรรมของหอประติมากรรมต้นแบบแห่งนี้สัมพันธ์กับการทำงานศิลปะซึ่งจะเห็นได้ว่ามีกระจกตลอดแนวทิศเหนือ ซึ่งศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยของไทยระบุว่าแสงจากทิศเหนือมีการเปลี่ยนแปลงน้อย ดังนั้น เมื่อปั้นประติมากรรม แสงจะคงที่ทั้งวัน

Advertisement

“ประติมากรใหญ่ยุคคณะราษฎรคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งจริงๆ แล้วทำงานสนองทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประชาธิปไตย โดยเข้ามาในไทยเมื่อ พ.ศ.2466 ตอนอายุ 30 ต้นๆ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งแม้รัฐบาลยุคนั้นเป็นผู้ว่าจ้างมาจากอิตาลี แต่ยังไม่ค่อยเชื่อฝีมือ สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ หรือสมเด็จครู นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม จึงชวนอาจารย์ศิลป์มาปั้นตัวเอง ซึ่งผลงานออกมาดีมาก ทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงเชื่อในฝีมือ” รศ.ดร.ชาตรีกล่าว จากนั้นนำชมประติมากรรมปูนปลาสเตอร์รูปสมเด็จกรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ฝีมือศาสตราจารย์ศิลป์

รศ.ดร.ชาตรีกล่าวว่า หลังจากนั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ได้ปั้นพระเศียรรัชกาลที่ 6 โดยครั้งแรกปั้นจากรูปถ่าย จึงออกมาไม่เหมือนจริง กระทั่งเชิญเสด็จรัชกาลที่ 6 มาทรงเป็นแบบ จึงออกมาเหมือนจริงมาก เป็นที่พอพระราชกฤทัย แต่ไม่นานได้เสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 7 จึงโปรดให้นำเศียรมาหล่อเป็นประติมากรรมแบบเต็มพระองค์ ซึ่งปัจจุบันประดิษฐาน ณ ปราสาทพระเทพบิดร ภายในพระบรมมหาราชวัง

Advertisement

สมัยรัชกาลที่ 7 มีโครงการใหญ่มาก คือ โครงการฉลองพระนคร 150 ปี มีความตั้งใจในการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 โดยมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่อยมา เช่น สร้างพระบรมรูปประดิษฐานหน้าวัดสุทัศนเทพวราราม แต่ยกเลิกไป โดยอภิรัฐมนตรีมีมติสรุปว่าจะสร้างสะพานรถข้ามระหว่างฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร คือ สะพานพุทธ ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดให้สมเด็จกรมพระยานริศฯ ออกแบบให้มีพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คู่สะพาน โดยผู้ปั้นคือศาสตราจารย์ศิลป์

“พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 ที่สะพานพุทธ คือ อนุสาวรีย์แห่งแรกที่ตั้งในพื้นที่สาธารณะ
ตอนนั้นเทคโนโลยีในสยามยังทำไม่ได้ เลยส่งไปหล่อที่อิตาลี โดยอาจารย์ศิลป์นั่งเรือไปคุมงานเอง แล้วมาประกอบติดตั้ง ถือเป็นอนุสาวรีย์ชิ้นสุดท้ายในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” รศ.ดร.ชาตรีกล่าว และว่า หลังจากนั้น ในยุคคณะราษฎร ศาสตราจารย์ศิลป์ ยิ่งได้รับความนิยมมากจากรัฐระบอบใหม่ มีความสัมพันธ์แนบแน่น จอมพล ป. พิบูลสงครามและหลวงวิจิตรวาทการ รวมถึงพระยาอนุมานราชธน และอื่นๆ โดยจอมพล ป. พิบูลสงครามยังเที่ยวชมงานประกวดศิลปกรรมแห่งชาติด้วย

ในกิจกรรมดังกล่าว มีการนำชมประติมากรรมต้นแบบผลงานสำคัญของศาสตราจารย์ศิลป์ซึ่งจัดแสดงในหอประติมากรรมต้นแบบ อาทิ ประติมากรรมที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเดิมศาสตราจารย์ศิลป์ออกแบบไว้ 8 ชิ้น แต่คณะราษฎรตัดออก 4 ชิ้น คงเหลือ 4 ชิ้นดังที่ปรากฏในปัจจุบัน

รศ.ดร.ชาตรี ยังนำชมประติมากรรมต้นแบบ ‘ท้าวสุรนารี’ หรือ ย่าโม ซึ่งออกแบบโดยศาสตราจารย์ศิลป์ นับเป็นอนุสาวรีย์สามัญชนแห่งแรกของไทย และเป็นอนุสาวรีย์บุคคลแห่งแรกของระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

ทั้งนี้ในกิจกรรม Book Walk ครั้งนี้ ยังมีการเดินเท้าเล่าประวัติศาสตร์ในจุดต่างๆ อาทิ สนามหลวง , กลุ่มอาคารศาลฎีกา และสถาปัตยกรรมต่างๆ บนถนนราชดำเนิน โดยได้รับความสนใจอย่างมาก ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกิจกรรมดังกล่าวด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image