‘เทพไท’ จี้ถามรบ.กั๊กจ่ายค่าตอบแทนอสม. อัด พปชร.-ภท.หาเสียงไว้ไม่ทำ

“เทพไท” จี้ถามรบ.กั๊กจ่ายค่าตอบแทนอสม. อัด พปชร.-ภท.หาเสียงไว้ไม่ทำ ด้าน หมอตี๋” ยัน ได้แน่ 19 เดือน แต่รอก่อน ชี้ จากนี้ไปจะปรับเท่าไร่ ลั่น ประชาชนต้องจับตา พรรคไหนหาเสียงไว้ต้องรับผิดชอบ

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา เรื่อง ค่าตอบแทน อสม. โดยนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ถามนายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่า อสม.เป็นองค์กร จิตอาสาโดยไม่มีค่าตอบแทน จนกระทั่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีนโยบายให้ค่าตอบแทนแก่ อสม.เดือนละ 500 บาทต่อคน ส่วนรัฐบาล คสช.ได้ปรับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1,000 บาท ก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน และตกเบิกค่าตอบแทนให้กับอสม.ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดวิกฤติไวรัสโควิด-19 อสม.คือด่านหน้าในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสจนประสบความสำเร็จ มีรับคำชื่นชมทั้งในประเทศ และจากประชาคมโลกอย่างกว้างขวาง ตนได้เรียกร้องให้ปรับค่าตอบแทนของ อสม.เพิ่มขึ้นเดือนละ 500 บาทเป็น 1,500 บาท และได้มีการตอบรับจากรัฐบาล ถือว่าเป็นสัญญาประชาคม แต่เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติลดค่าตอบแทนของ อสม.จาก 19 เดือน เหลือ7เดือนนั้น จึงขอถามรัฐบาลดังนี้ 1.อยากทราบเหตุผลจากรัฐบาลว่าเป็นเพราะเหตุใด ทั้งๆที่เป็นสัญญาประชาคมที่ให้กับ อสม.จำนวน 1,054,729 คน ว่าจะให้19เดือน

นาเทพไท กล่าวต่อว่า 2.การที่นายกฯ เปรียบเทียบค่าตอบแทนของอสม.กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคลากรด้านการแพทย์นั้น เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะอสม.เป็นองค์กรจิตอาสา ไม่มีเงินเดือนประจำ เหมือนกับองค์กรอื่นๆ การเยียวยาค่าตอบแทนให้กับ อสม.เดือนละ 500บาท จำนวน 19 เดือน เป็นยอดเงิน 9,500 บาท ซึ่งน้อยกว่าการเยียวยาให้กับประชาชนโดยทั่วไปที่ได้รับคนละ 15,000บาท 3.รัฐบาลมีนโยบายในการปรับค่าตอบแทนให้กับ อสม.เป็นเดือนละ 1,500 บาทโดยจัดเป็นเงินงบประมาณประจำปีได้หรือไม่ เพราะในการหาเสียง มีพรรคการเมืองประกาศนโยบายด้วยการเพิ่มค่าตอบแทนของ อสม.เช่น พรรคพลังประชารัฐ เสนอเดือนละ 5,000 บาท พรรคภูมิใจไทย เสนอเดือนละ 2,500 บาท พรรคประชาธิปัตย์ เสนอเดือนละ 1,200 บาท เมื่อทั้ง 3พรรคมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ก็ควรทำตามนโยบายที่หาเสียงกับประชาชนไว้ การที่ตนเสนอให้ปรับค่าตอบแทน อสม.เป็นเดือนละ 1,500 บาท ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สมเหตุสมผล และไม่เป็นภาระด้านงบประมาณประจำปี และ 4.เมื่อเจตนารมณ์ของ อสม.เป็นองค์กรจิตอาสา ทำงานโดยไม่หวังค่าตอบแทน จึงอยากให้รัฐบาลสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ของ อสม.ด้วย ซึ่งถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ เห็นความสำคัญของ อสม.จริง ก็ต้องจัดงบประมาณสนับสนุนการทำงานของ อสม.

ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงแทนรองนายกฯว่า อสม.ทั่วประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่ไม่มีใครพูดถึงค่าตอบแทน ไม่มีใครสนใจว่า ทำแล้วจะได้ตอบแทน เพราะอสม.ทำด้วยจิตอาสา ตนพูดตลอดว่า อสม.ปิดทองหลังพระจนล้นมาหน้าพระ จนส.ส.ในสภาฯก็เสนอว่า ต้องให้ค่าตอบแทน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเห็นนี้ไปพิจารณา และจัดอันดับค่าตอบแทนเสี่ยงภัย เฉพาะสถานการณ์โควิด จำนวน 19 เดือน เมื่อผ่านสภาพัฒน์ ที่มีหน้าที่กลั่นกลอง และยังคง 19 เดือนเหมือนเดิม เพียงแต่ครม.อนุมัติขั้นต้น โดยเปลี่ยนจากเงินกู้เป็นงบกลาง และอนุมติจ่ายให้อสม. 7 เดือน เดือนละ 500 บาท ส่วนอีก 12 เดือน นายกฯย้ำว่า จะดำเนินการให้ภายใต้งบกลาง ส่วนจะดำเนินการอย่างไร จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา สิ่งที่กระทรวงให้กับ อสม.ไปแล้วก่อนโควิด โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ คือ 1.ให้สิทธิรักษาฟรีโดยพักห้องพิเศษ ทุกโรงพยาบาลไม่ต้องจ่ายเพิ่ม 2.ก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2563 ถ้าอสม.ทั่วประเทศ ถ้าเสียชีวิต จะได้รับเงิน 320,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่เก็บจากอสม.ทั่วประเทศ โดยคนข้างหลังอสม.จะได้รับประโยชน์ แต่อสม.ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 1,000 บาท และค่าเสี่ยงภัยอีกเดือนละ 500 บาท 19 เดือน และหลัง 19 เดือน อสม.จะกลับไปสู่สถานะเดิม

“ส่วนการเพิ่มค่าตอบแทน อสม.จากเดือนละ 1,000 บาท เป็นอีกเท่าไหร่นั้น ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับประชาชนในการให้พรรคการเมืองประกาศนโยบาย และต้องยอมรับว่าพรรคการเมืองไหนประกาศนโยบายอะไรต้องรับผิดชอบต่อนโยบายนั้น ได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องพิสูจน์ในการเลือกตั้ง เรื่องนี้จึงเป็นนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง และเมื่อพรรคการเมืองนั้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบต่อคำพูด” นายสาธิตกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image