โรม ชี้ กมธ.ชงรื้อม.256 เปิดทางแก้รธน. แต่ผู้ลงมือจริง ต้องเป็นรบ.

โรม ชี้ กมธ.ชงรื้อม.256 เปิดทางแก้รธน. แต่ผู้ลงมือจริง ต้องเป็นรบ. ส่งสัญญาณฝ่าด่านเสียงส่วนน้อย      

วันนี้ (31 ก.ค.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง กมธ รัฐธรรมนูญ เห็นด้วยกับการแก้ “วิธีแก้รัฐธรรมนูญ” และตั้ง “ส.ส.ร.” โดยระบุว่า

“วันนี้ (31 กรกฎาคม 2563) ผมในฐานะกรรมาธิการได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในวาระนี้พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับบทบัญญัติหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ผลการประชุม คณะกรรมาธิการฯ ได้ข้อสรุปร่วมเช่นเดียวกับที่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องกันอยู่ในขณะนี้ นั่นคือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นสมควรที่จะต้องถูกแก้ไขเพิ่มเติม

ซึ่งบทบัญญัติที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นั้นมีอยู่มากมายหลายเรื่อง หลายหมวด หลายมาตรา การจะแก้ไขให้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์จะต้องแก้ไขทั้งฉบับ คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าควรให้มีการเพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการตั้ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) เข้าไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นองค์กรรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนทั้งประเทศ แล้วนำมาร่างเป็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย

Advertisement

ทว่าการตั้ง ส.ส.ร. นั้นอาจใช้เวลายาวนานเป็นปี และอาจมีประเด็นที่ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คณะกรรมาธิการฯ จึงเห็นว่าควรให้มีการแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 256 ที่กำหนดขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สร้างความยากลำบากในการดำเนินการแก้ไขเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังนำ “เสียงส่วนน้อย” มาเป็นตัวชี้ขาดความสำเร็จในการแก้ไข เช่น การต้องให้ ส.ว. อย่างน้อย 1 ใน 3 (84 คน) และให้ ส.ส. จากพรรคที่ไม่ได้มีผู้เป็นรัฐมนตรี ประธานหรือรองประธานสภา อย่างน้อย 20% เห็นชอบกับการแก้ไขด้วย จึงควรถูกแก้ไขเพื่อให้ยังสามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นปัญหาที่เร่งด่วนในระหว่างรอกระบวนการของ ส.ส.ร. ได้ โดยอาจย้อนกลับไปใช้ “เสียงครึ่งหนึ่งของสภา” แบบในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

ข้อสรุปร่วมดังกล่าวของคณะกรรมาธิการฯ นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ข้อเรียกร้องของประชาชนได้ถูกผลักดันให้เข้าใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น เป็นบันไดขั้นแรกสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนและสะท้อนเจตนารมณ์อย่างแท้จริง โดยคณะกรรมาธิการฯ จะสรุปผลการพิจารณาทั้งหมดและนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนกันยายน 2563 นี้

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการชุดนี้มีฐานะเป็นเพียงผู้รวบรวมและพิจารณาข้อคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยตรง ดังนั้น จึงเป็นภารกิจของรัฐบาล (หากคิดจะทำ) และพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะยื่นเรื่องเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และฝ่าด่าน “เสียงส่วนน้อย” ตามมาตรา 256 ต่อไป

Advertisement

สำหรับผมและพรรคก้าวไกลนั้น เราเห็นด้วยกับข้อสรุปของคณะกรรมาธิการฯ ในการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวดการตั้ง ส.ส.ร. เข้าไปในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 นอกจากนี้ในระหว่างรอกระบวนการ ส.ส.ร. เรายังเห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกมาตรา 269 -272 เพื่อยกเลิก ส.ว. 250 คนที่ถูกเลือกเข้ามาโดย คสช. และมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี (แล้วกลับไปใช้การเลือก ส.ว. ตามบททั่วไป) และยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองความชอบของบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. ทั้งหมดไม่ให้ผู้เสียหายฟ้องร้องโต้แย้งได้

เราจะเดินหน้าผลักดันวาระการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเต็มกำลัง และจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการต่อสู้เรียกร้องของพี่น้องประชาชนตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้นจะไม่สูญเปล่า ขอทุกท่านติดตามและสนับสนุนการทำงานของพวกเราต่อไปครับ” 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image