‘ชำนาญ’ ชงตั้ง ‘ส.ส.ร.’ ยกเครื่องรธน.ใหม่ เชื่อหากประยุทธ์โอเค ‘ส.ว.’ คงไม่ขัด

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม นายชำนาญ จันทร์เรือง กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะรองประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎรคนที่สาม ให้สัมภาษณ์ถึงกมธ. เสียงส่วนใหญ่เห็นควรให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะสามารถไปไกลถึงการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ (ส.ส.ร.) ว่า กมธ. เกือบทั้งหมดเห็นด้วยให้แก้ไขมาตรา 256 โดยในที่ประชุมมีบางท่านเสนอว่า เมื่อแก้ไขมาตรา 256 แล้วก็ควรจะให้ตั้ง ส.ส.ร. ไปพร้อมกันเลย ขณะที่สมาชิกบางท่านของฝ่ายรัฐบาลก็แสดงความเห็นว่า หากทำไปทีเดียวแบบนี้จะไม่ได้อะไรซักอย่าง เหมือนกับหักด้ามพร้าด้วยเข่า ควรจะแก้ไขมาตรา 256 ไปก่อนแล้วค่อยมาตั้ง ส.ส.ร. ทีหลัง อย่างไรก็ตามขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเริ่มต้นที่การแก้ไขมาตรา 256 ก่อน แล้วค่อยมาหารือกันว่าจะตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่

บทบาทของ กมธ.ชุดนี้ ทำหน้าที่ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนนำเสนอต่อสภา ซึ่งจะทำให้เกิดสองแนวทางออก คือ หนึ่ง มีมติแจ้งไปที่รัฐบาลว่าทางสภามีมติและข้อเสนอแบบนี้รัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ และสอง กรณีที่สภายังไม่มีมติ จึงให้ตั้งแต่คณะกรรมาธิการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามถึงท่าทีของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยในช่วงที่ผ่านมาแสดงความเห็นด้วยให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ นายชำนาญ กล่าวว่า ย้อนกลับไปในช่วงการตั้งกมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.ค่อนข้างเสียงแข็งไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในช่วงที่ผ่านมาเกิดกระแสแฟลชม็อบ และการชุมนุมของประชาชน นักเรียนนิสิตและนักศึกษาทั่วประเทศ ทำให้ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญควรถูกแก้ไข

เมื่อถามว่า ส.ว. จะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่หากได้รับผลกระทบต่ออำนาจหน้าที่และตำแหน่งของตัวเอง นายชำนาญ กล่าวว่า ต้องดูว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความเห็นว่าอย่างไร หากนายกฯ เห็นด้วยทุกอย่างคงไม่มีปัญหา

Advertisement

“ในความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะทุกมาตราพันกันไปหมด และวิธีที่ดีที่สุดคือการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่างใหม่ทั้งฉบับ อาจจะดูยาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้น” นายชำนาญ กล่าว

เมื่อถามว่า มีบางฝ่ายที่เสนอให้ใช้โมเดล ส.ส.ร. พ.ศ. 2534 นายชำนาญ กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วย หากจะนำโมเดลนี้มาใช้ เพราะบทบาทการร่างรัฐธรรมนูญไปอยู่ในสัดส่วนฝ่ายนักวิชาการเกือบทั้งหมด ตนเห็นว่า ส.ส.ร. ควรมาจากตัวแทนของแต่ละจังหวัดตามสัดส่วนประชากร ส่วนนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิควรจะมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชนและทางรัฐศาสตร์ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้ แต่จะถึงขั้นให้มีการตั้ง ส.ส.ร. หรือไม่ก็ต้องรอต่อไป หากกระแสแรงขึ้นก็คงจะต้านไม่อยู่

ส่วนที่มีความเห็นว่า ควรจะให้กลุ่มนักศึกษาเข้ามานั่งเป็น ส.ส.ร. ด้วย นายชำนาญ กล่าวว่า ความสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญอยู่ที่ว่าเราจะนำเรื่องใดเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย ส.ส.ร. เปรียบเสมือนช่างตัดผมต้องตัดผมตามใจเจ้าของหัว ซึ่งก็คือนักศึกษา ที่ทำหน้าที่เสนอความเห็นขึ้นมา

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image