iLaw ล่า 5 หมื่นชื่อแก้ไขรธน. ‘วิษณุ’ แจง2แนวทาง เว็บราชกิจจาฯประกาศ 7 รมต.ใหม่ประยุทธ์ 2/2

iLaw ล่า 5 หมื่นชื่อแก้ไขรธน. ‘วิษณุ’ แจง2แนวทาง เว็บราชกิจจาฯประกาศ 7 รมต.ใหม่ประยุทธ์ 2/2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 7 สิงหาคม เวลา 13.00-16.00 น.โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน อาทิ เครือข่าย People Go เครือข่าย Constitution Advocacy Alliance (CALL) เครือข่ายคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เป็นต้น เปิดตัวแคมเปญ เข้าชื่อ 50,000 รายชื่อร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทั้งนี้ นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ กล่าวว่า ทางเครือข่ายจะร่วมกันแถลงถึงเหตุผลที่มาและความสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีการแถลงรายละเอียดต่างๆ ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้เพื่อเริ่มเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างเป็นทางการ

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่า ต้องทำประชามติ ใช้งบประมาณ3,000 ล้านบาท เกือบเท่ากับงบที่ใช้ในการเลือกตั้งทั่วไป การแก้รัฐธรรมนูญแก้ได้ 2 อย่างคือ 1.แก้เป็นรายมาตราหรือรายเรื่อง ที่ไม่เกี่ยวกับหมวด 1 หมวด 2 และหมวด 15 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขคุณสมบัติและอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ที่กระจายอยู่หลายหมวด หากจะแก้บทเฉพาะกาลที่แก้ไม่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี จะเป็นการแก้เป็นเรื่องๆ ซึ่งจะรวมไปถึงการแก้ไขวิธีการเลือกตั้ง เช่นจะใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ หรือ 2 ใบ นี่คือประเภทที่หนึ่ง ซึ่งกระบวนการแก้ไขจะเดินตามมาตรา 256 ตามปกติคือนำเข้ารัฐสภา ผ่านวาระ 1-3 หากมีผู้สงสัยก็ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ดำเนินการเสร็จภายใน 1 เดือน ถ้าไม่สงสัยก็ไม่ต้องส่ง จากนั้นนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ได้ทันที

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนการแก้ประเภทที่ 2 ถ้ามีการแก้หมวด 1 เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป หรือหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการแก้เกี่ยวกับคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม และอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ ซึ่งกระจายอยู่หลายหมวด ต้องนำเข้ารัฐสภาผ่านวาระ 1-3 จากนั้นต้องนำไปทำประชามติ และการลงประชามติ ที่ยุ่งยากอยู่เรื่องหนึ่งเพราะมีล็อกเอาไว้ว่า การทำประชามติต้องทำตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงลงประชามติ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายนี้ และต้องใช้เวลาในกระบวนการออกกฎหมาย ต้องเลือกเอาว่าจะแก้แบบไหน การแก้ไขมาตรา 256 หรือการจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือการแก้หมวด 15 เป็นการแก้แบบประเภทที่ 2 ต้องลงประชามติ ทั้งนี้ คิดว่าหากจะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ทันสมัยประชุมนี้ เพราะยังมีเรื่องการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และการทำกฎหมายการทำประชามติ เพราะต้องมีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ

Advertisement

“ถ้าคิดว่าจำเป็นจะแก้ก็ต้องคุ้ม ถ้าจะพูดเหมือนที่ฝ่ายค้านบางท่านพูดว่า ก็ไม่เป็นไรถ้าจะต้องเสีย ถ้าเลือกยอมจะต้องเสีย และเหตุผลมีความจำเป็นก็ทำ แต่ถ้าคิดว่าจะลำบากสิ้นเปลืองในยุคนี้เวลานี้ ข้อสำคัญคือ พอดีพอร้ายคือมันคงไม่ได้ลงประชามติหนเดียว ถ้าสมมุติว่าลงประชามติผ่านจนนำไปสู่การตั้ง ส.ส.ร. ฉบับที่ ส.ส.ร.ก็ต้องนำไปลงประชามติอีกรอบ อย่างน้อยก็ต้องมีการลงประชามติถึง 2 ครั้ง ดังนั้นถ้าจำเป็นจะเสียก็ต้องเสียไม่มีปัญหา ส่วนจะจำเป็นหรือไม่จำเป็นแล้วแต่พูดกันในทางการเมือง” นายวิษณุกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า ตามที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามประกาศลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2562 แล้วและแต่งตั้งรัฐมนตรีเพื่อบริหารราชการแผ่นดิน ตามประกาศลงวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2562 นั้น บัดนี้ นายกฯได้กราบบังคมทูลว่า ได้มีรัฐมนตรีลาออกบางตำแหน่ง สมควรแต่งตั้งรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างและเพิ่มเติมบางตำแหน่ง เพื่อความเหมาะสมและบังเกิดประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้ นายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายอนุชา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายปรีดี ดาวฉาย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปประกาศ ณ วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2563 เป็นปีที่ 5 ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image