“โรม” จวกส.ว.เลิกปลุกบรรยากาศนองเลือด หยุดผลักอนาคตของชาติไปเป็นศัตรู

“โรม” จวกส.ว.เลิกปลุกบรรยากาศนองเลือด หยุดผลักอนาคตของชาติไปเป็นศัตรู

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง แนวทางการสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญการกฏหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีสาระสำคัญคือ การเสนอแนวทางสร้างความปรองดอง โดยการให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ไม่มีการสืบทอดอำนาจ และการเสนอนิรโทษกรรมเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน เฉพาะคดีที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมือง ไม่รวมคดีอาญา ความผิดตามมาตรา112 และคดีทุจริต โดยเสนอให้ออกเป็นพ.ร.ก.หรือร่างพ.ร.บ. ตลอดจนการเสนอให้กองทัพวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อิทธิพลกดดันนโยบายรัฐบาล ซึ่งส.ส.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรายงานฉบับดังกล่าว

ต่อมา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ต้องยอมรับความจริงว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศความปรองดอง มีหลายมาตราเป็นการสืบทอดอำนาจให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมลดราวาศอก ไม่ยอมรับให้มีรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยคงเป็นเรื่องยากจะเกิดการปรองดองกันได้ เงื่อนไขหนึ่งคือ การทำลายส.ว.ที่มาจากคณะคสช.อยากให้สมาชิกฝ่ายรัฐบาลกดปุ่มปิดสวิตซ์ส.ว.ให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน เรายังไม่รู้ว่าจะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ผ่านมาการที่ส.ว.ออกมาขู่การชุมนุมของนักศึกษาว่า จาบจ้วงสถาบัน อาจนำไปสู่การนองเลือดนั้น เพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ท่านไม่พูดเรื่องนี้จะดีกว่า มีแต่จะสร้างบรรยากาศความกลัว ความขัดแย้งใหม่ โอกาสไปสู่ความปรองดองจะเป็นเรื่องยาก รากของปัญหานี้อยู่ตรงไหนทุกคนรู้ดี

“ผมไม่สบายใจที่สมาชิกรัฐบาลหลับตาข้างเดียวไม่รู้ร้อนรู้หนาว สร้างอุณหภูมิให้ร้อนแรงขึ้น ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองควรรับฟังความจริงนี้ ไม่ใช่ผลักอนาคตชาติไปเป็นศัตรู รู้มาว่า รัฐบาลจะไม่เห็นชอบรายงานเล่มนี้ อยากให้เปิดตารับความจริงอันกระอักกระอ่วนนี้ โดยที่อยากให้เพื่อนสมาชิกทุกคนมาช่วยกัน เพื่อประโยชน์เราจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ และยุบส.ว. 250 คน ส่วนการนิรโทษกรรมสำหรับคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง รายงานเล่มนี้เลือกที่จะยกเว้นผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งต้องยอมรับว่าคนเห็นต่างจำนวนมากถูกดำเนินคดีมาตรานี้ การระบุเช่นนี้จึงไม่สามารถสร้างบรรยากาศความปรองดองได้ จึงไม่ควรระบุในรายงานว่า ให้ยกเว้นกฎหมายอะไร เพราะมาตา 112 เป็นมาตราหนึ่งที่เอาไว้รังแกคนเห็นต่างทางการเมือง เหมือนกฎหมายอีกหลายฉบับ” นายรังสิมันต์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image