ม็อบจุฬาฯ ลั่น ถ้าจะเป็น ‘เสาหลัก’ ต้องค้ำจุน ปชต. ไม่ใช่ผดุงเผด็จการ

ม็อบจุฬาฯ ลั่น ถ้าจะเป็น ‘เสาหลัก’ ต้องค้ำจุน ปชต. ไม่ใช่ผดุงเผด็จการ

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพ กลุ่ม ‘Spring Movement’ นัดหมายจัดกิจกรรม ‘เสาหลักจะหักเผด็จการ’ เวลา 16.00 น. บริเวณลานพระบรมรูป 2 รัชกาล โดยย้ายจากจุดนัดหมายเดิม คือบริเวณสนามจุ๊บหลังเกิดปัญหาติดขัดด้านการใช้สถานที่ โดยผู้จัดยืนยันเดินหน้ากิจกรรมแม้ทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาต กระทั่งสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ออกแถลงการณ์ให้ทางมหาวิทยาลัยทบทวนจุดยืน

ตั้งแต่เวลา 15.30 น. กระทั่ง 16.15 น. ฝนตกลงมาอย่างหนัก ผู้จัดประกาศผ่านเฟซบุ๊กว่าอยู่ระหว่างการประสานงานหาสถานที่ร่มจัดกิจกรรม ทั้งยังระบุว่า เตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว แต่ลืมฝ่ายเทวสัมพันธ์ อีกทั้งระบุว่า ได้ประสานกับทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้มาปักตะไคร้แล้ว

ด้านบรรยากาศบริเวณโถงชั้นล่างของอาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ มีการตั้งโต๊ะล่า 50,000 รายชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ 60 โดยโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ซึ่งมีนิสิตร่วมลงชื่ออย่างต่อเนื่อง

ต่อมาเวลา 16.45 น. ประกาศย้ายสถานที่จัดมายังอาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์

Advertisement

เวลา 16.55 น. ผู้จัดเดินทางมาถึงอาคารมหาจักรีสิรินธร ประกาศขอใช้สถานที่ต่อนิสิตที่กำลังนั่งอ่านหนังสือและทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งนิสิตให้ความร่วมมือโดยช่วยกันย้ายโต๊ะเก้าอี้ จากนั้นผู้จัดเริ่มตั้งเวทีบริเวณโถงดังกล่าวอย่างรวดเร็วท่ามกลางนิสิต และกลุ่มนักเรียนมัธยมที่รอเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก บางส่วนชูป้าย ไม่ลืม วิชิต ชัย อมรกุล นิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

ตัวแทนนิสิตจุฬาฯ กลุ่ม ‘เสรีเทยพลัส’ กล่าวว่า เรามารวมกันวันนี้ เพื่อเป็นกระบอกเสียง คนที่เคยบอกว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้เรา สุดท้ายไม่เคยพูด คนขอเรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน ไม่เช่นนั้น คนจะออกมามากกว่านี้ แล้ววันนั้นท่านจะเป็นฝ่ายแพ้

จากนั้น นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ นำป้ายผ้ามาร่วมงาน มีข้อความว่า ‘ทวงคืนจรรยาบรรณสื่อ’ ที่ไม่นำเสนอข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา และสื่อที่สนับสนุนเผด็จการ

Advertisement

ต่อมามีการผลัดขึ้นปราศรัยอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ปราศรัยหญิงรายหนึ่งเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ดัง ขึ้นเวทีกล่าวในประเด็น ‘ความเป็นอภิสิทธิ์ชนของจุฬาฯ ในสังคมไทย’ มีเนื้อหาตั้งคำถามถึงท่าทีของมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์สื่อว่า จุฬาฯ ให้อิสระในการแสดงความเห็นทางการเมือง และพร้อมช่วยเหลือ แต่วันนี้เวลา 12.00 น. กลับออกประกาศที่มีทิศทางตรงกันข้าม โดยระบุว่านิสิตที่ฝ่าฝืนจัดกิจกรรมจะถูกดำเนินการทางวินัย ตนขอขอบคุณคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ที่ออกแถลงการณ์ขอให้มหาวิทยาลัยทบทวน มหาวิทยาลัยควรเป็นสถานที่ปะทะทางความคิดไม่ใช่ลอยแพนิสิต นักศึกษา ที่ผ่านมาในยุค คสช. มีคนถูกคุกคาม 593 คน โดน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 197 คน พ.ร.บ.ชุมนุม 28 คน ลี้ภัยทางการเมือง 104 คน บางคนโดนอุ้ม ดังเช่น นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

“นิสิตจุฬาฯ มีเครดิต แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าไม่ใช้ในการขับเคลื่อนสังคม ถ้ายังเคลมว่าเป็นเสาหลัก สิ่งที่ต้องทำคือค้ำจุนประชาธิปไตย ไม่ใช่เสาหักที่ผดุงเผด็จการ” ผู้ปราศรัยกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image