ศ.ดร.ธเนศ ชี้ การเมืองปชต.มาจากสามัญสำนึก ไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมายที่ต้อง ‘ตีความแล้วตีความอีก’ (คลิป)

‘ธเนศ’ ชี้ต้นตอ ปมขัดแย้ง ขุด ปวศ.เทียบเมกา เผย ‘ทางรอด’ ด้วย ‘กติกา’ จากมติมหาชน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงานเสวนาวิชาการ “ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย: ไม่แก้ไข เขียนใหม่เท่านั้น” เพื่อเป็นเวทีในการสรรค์สร้างสังคมประชาธิปไตย และหาทางออกเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประชาชนทุกคน ทุกภาคส่วน มีส่วนร่วม

เวลา 13.00 น. มีการเสวนาในหัวข้อ “ผ่าทางตันรัฐธรรมนูญไทย ในมุมมองนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย” ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนหนึ่ง ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญกับมุมมองประวัติศาสตร์ ว่า

การรัฐประหาร นับแต่ปี 90 ยุติระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญหมดสิ้น นำไปสู่การมีพรรคการเมืองประชานิยมจนถึงปัจจุบัน โดยรัฐธรรมนูญ 40 เป็นการเข้าสู่ระบอบยอมรับหลักการ ปรับปรุงระบบต่างๆ เพื่อให้ระบอบการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สันติ และมีกิจกรรมได้อย่างชาวโลกเสียที

ปัญหาไม่ได้เกิดหลังจากการประท้วงของ พันธมิตร แต่เกิดจากความขัดแย้งของคณะราษฎร กับ ประชาธิปัตย์ฝ่ายอนุรักษนิยม ประชาชนไม่มีส่วน เวทีนี้จำกัดเฉพาะชนชั้นนำ หรือมาจากระบอบจารีตเก่า วิธีการจึงค่อนข้างแคบ และตัดสินกันได้ไม่ยาก แต่พันธมิตรเปิดเวทีการต่อสู้ทางการเมืองอีกระนาบ จากทุกภาคส่วนของสังคมหลังโลกาภิวัฒน์เติบใหญ่ มีทรัพยากร และจานดาวเทียม ทำให้การต่อสู้นั้นยืดเยื้อ หมุดหมายทางการเมืองก็ไม่ใช่การเมือง

Advertisement

“การรัฐประหารที่แม้จะรุนแรง ฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ไม่รุนแรงด้วยการนองเลือด เปลี่ยนรัฐบาลและเริ่มใหม่ แต่หลังพันธมิตรเวทีขยายไปมาก จุดหมายจึงไม่สามารถยุติลงได้ในวันสองวัน นานเข้าเกิดความเชื่อว่าจุดจบของการประท้วงคือ โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นการสู้กันระหว่างอำนาจอธิปไตย และอำนาจของประชาชน เถียงกันได้ และจบลงด้วยการล้ม รัฐบาลด้วยกำลังรุนแรง ผลคือ หทารออกมายึดอำนาจ ไปเสริมให้ความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกจบลง ด้วยการล้ม

ต่อมามีการประท้วงของคนเสื้อแดงต่อต้าน ล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์อีกเช่นกัน ทั้งหมดมาในแพทเทิร์นดียวกัน คือ ไม่มีใครสามารถอ้างหลักการอันใดได้ แม่แต่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายใด ก็อ้างไม่ได้ เมื่อใช้อำนาจในระบบไม่ได้ก็ใช้นอกระบบ ทั้งหมดนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญ ปี 50 ซี่งคนไม่พอใจ เพราะมีที่มาไม่ถูกต้อง จึงฟื้นความขัดแย้งระนาบเดิม คนที่ขวางต้องเอาออกหมด ดังนั้น จึงจะต้องมีเสถียรภาพ และคนยอมรับกฎหมายพื้นฐานในระดับหนึ่ง แต่ถ้าเอาพลังการต่อรองสร้างระบอบที่ไปด้วยกันไม่ได้ จะเกิดการต่อต้านจากอีกฝ่าย ก็จะไม่จบ ตัวอย่างนั้น ทำให้ใครก็ตามที่เข้ามาสู่อำนาจ อยู่ไม่ได้ เหมือนที่ คสช.เผชิญอยู่ตอนนี้ ไม่ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่าผลจะมาเร็วขนาดนี้ นึกว่าอีกสัก 10 ปี แต่มันมาแล้ว” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

ศ.ดร.ธเนศกล่าวต่อว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้เริ่มต่างจากวิธีการของสีเสื้อต่างๆ คือไม่ได้ต้องการใช้ปริมาณล้มรัฐบาล

“ที่สหรัฐอเมริกา ที่ไม่มีใครฉีกกฎหมาย เพราะทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าคือหลักการที่ยอมรับได้ เราควรจะเข้าสู่ระบบที่การใช้อำนาจ โดยต้องมีหลักการที่คนส่วนใหญ่รับรู้ ไม่ใช่ตีความกันเอง อย่างเช่น ศาลสูงสุดของอเมริกา เวลาตีความ จะตีความโดยดู ‘มติมหาชน’ เช่น เรื่องทำแท้ง ที่แม้จะเปลี่ยนกันไปมา แต่ระบอบการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญต้องผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ ที่ไม่ผลัดกันไม่มีในประเทศไหนในโลก ต้องเป็นคอมมิวนิสต์แบบสีจิ้นผิงไป ไม่ต้องไปไหน อยู่บ้านดูทีวีช่องเดียว ไม่ใช่พอมีการเดินขบวนก็ไปตามจับ มันไม่มีประโยชน์อะไร เสียเวลา

“ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับต่อไปสามารถสร้างฐานการยอมรับได้ กว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ เช่น สิทธิ เสรีภาพ การได้มาของรัฐบาล ที่วิญญูชนทุกคนยอมรับได้ การเมืองประชาธิปไตยมาจากสามัญสำนึก ไม่ใช่การเมืองของนักกฎหมาย ที่ซับซ้อน อ่านแล้วต้องตีความแล้วตีความอีก นั่นเป็นคณาธิปไตย หรือ การปกครองเฉพาะกลุ่มนักกฎหมาย สำคัญคือ ต้องเอามาทำ ไม่ใช่เขียนเพื่อลงโทษคนอื่น” ศ.ดร.ธเนศกล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image