อจ.แนะทางออกอปท.”ถังแตก” ใช้ทรัพยากรร่วมกันลดค่าใช้จ่าย

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เนื่องจากจัดเก็บภาษีได้ลงลด ส่งผลกระทบต่อการบริหารและโครงการพัฒนาในพื้นที่ว่า ท้องถิ่นต่างๆ มีงบประมาณที่สามารถจัดเก็บเองได้ และส่วนที่มาจากการสนับสนุนของรัฐ รวมทั้งเงินสะสมที่มีอยู่ สามารถดึงออกมาใช้ได้ แต่การประสบปัญหางบประมาณลดลงกระทบรายจ่ายประจำแน่นอน อาทิ ค่าจ้าง เงินเดือน อีกทั้งกระทบงบผูกพันที่ต้องใช้จ่าย ไม่ว่าจะเรื่องอาหารกลางวัน หรือนมโรงเรียน จะเป็นจุดเริ่มต้นผูกพันอันนำไปสู่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลในอนาคตมีงบประมาณไม่เพียงพอ คนจะเข้ามาภายหลังการเลือกตั้งจะมีปัญหาบริหารจัดการงบประมาณแน่นอน

ผศ.ดร.โอฬาร กล่าวว่า ทางออกของเรื่องนี้คือ 1.ลดงบประมาณส่วนค่าใช้จ่ายสิ้่นเปลือง เช่น รายจ่ายประจำที่มาจากบุคลากร ทั้งนี้ บุคลากรท้องถิ่นจำนวนมากเป็นลักษณะจ้างเหมา ไม่มีกรอบอัตรา หรือจ้างตามภารกิจ หรือโครงการ บางคนจ้างนาน 20 ปี จึงเห็นว่าควรตัดหรือลดงบประมาณส่วนนี้ลง 2.ค่าใช้จ่ายที่มีสามารถลดหรือยกเลิกได้ เช่น เอกสารต่างๆ สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนได้ 3.ท้องถิ่นมีข้อกฎหมายบางประการสามารถทำให้เกิดความร่วมมือกันที่เรียกว่า สหการŽ ได้ อาทิ ท้องถิ่นมีรถเก็บขยะจำนวนมาก แทนที่แต่ละแห่งจะมีรถเป็นของตัวเอง อปท.อาจร่วมมือกัน 3-4 แห่ง แล้วใช้ทรัพยากรร่วมกัน

“ท้องถิ่นควรเรียกร้องให้มีการจัดเก็บภาษีที่กว้างขวางกว่านี้ เช่น กดดันให้เทศบาลจัดการเรื่องการเก็บภาษีที่ดิน เก็บภาษีมรดกในท้องถิ่นด้วย หากรัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีเหล่านี้ได้จริง ปีหนึ่งรัฐบาลจะมีงบปีละ 1 ล้านล้านบาท แต่ปัญหาคือเราไม่ได้วางแผนการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อทำให้เกิดการบริหารงานท้องถิ่น เราใช้การเก็บภาษีแบบเดิมในสถานการณ์ประเทศเกิดภาวะวิกฤต จึงทำให้เกิดผลกระทบตามมาในลักษณะนี้” ผศ.ดร.โอฬารกล่าว

ผศ.ดร.โอฬารกล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้เหมือนเทศบาลทุกระดับนั้น ในความเป็นนิติบุคคลแล้ว เทศบาลสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ แต่ไม่มั่นใจว่า อบต.มีกฎหมายล็อกไว้หรือไม่ คิดว่าการหาเงินลักษณะที่อยู่ในภาวะจำเป็น ไม่ควรใช้วิธีการเช่นนี้ตลอดไป อาจมีการกู้ในภาวะจำเป็น 1-2 ปี แต่มองถึงความยั่งยืนของการจัดเก็บรายได้ด้วยการปฏิรูปการจัดเก็บภาษี รวมทั้งลดงบค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ตลอดจนทำความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ อาทิ ระหว่าง อปท.ด้วยกัน อปท.กับภาคเอกชน หรือ อปท.กับภาคประชาสังคมในการทำให้เกิดงบประมาณและทรัพยากรในการบริหารจัดการ ไม่อยากให้มองเฉพาะการกู้อย่างเดียว เนื่องจากเป็นพันธะผูกพัน มีเรื่องดอกเบี้ย การใช้คืนตามระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง

Advertisement

นายชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า รายได้ของ อปท.ที่ลดลงจากนโยบายรัฐบาลกำหนดให้ชะลอการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งกำหนดให้จัดเก็บเพียง 10% ประเด็นนี้รัฐบาลมีแนวโน้มจะได้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้น เพราะอ้างว่าภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ภาระหนักอยู่ที่อปท.ทั่วประเทศ ดังนั้นรัฐบาลหาเม็ดเงินไปชดเชยส่วนที่อปท.จะต้องใช้จ่ายรวมแล้วกว่า 70,000 ล้านบาท เพื่อให้อปท.เดินหน้าใช้งบลงทุน และมีตัวเลขในการทำประมาณการรายจ่ายในปีต่อไปให้ชัดเจน ตรงตามภารกิจและอำนาจหน้าที่ ที่สำคัญในระยะสั้นไม่ให้มีผลกระทบกับการเลิกจ้างลูกจ้างใน อปท.ทั่วประเทศ

“สำหรับวงเงินงบอุดหนุนที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรให้ อปท.ร้อยละ 29.5 ในปีงบประมาณ 2564 จากเดิมจัดสรรให้ร้อยละ 29.47 ในปีงบประมาณ 2563 แต่พบว่าเม็ดเงินที่ อปท.สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงมีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น ที่เหลือเป็นงบกาฝากตามนโยบายของรัฐบาล เช่น ค่าตอบแทน อสม. เบี้ยคนชรา นมโรงเรียน อาหารกลางวันนักเรียน แม้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้ อปท.มีมติเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไม่ให้รัฐบาลนำงบที่จ่ายตรงในระบบอีเพย์เมนต์จากกระทรวงการคลังนำเข้าไปรวม แต่ปีนี้ก็ยังถูกนำไปรวมไว้ตามปกติ ซึ่งต้องติดตามาว่าการจัดสรรงบให้ อปท.ในปีต่อไปจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามมติหรือไม่ และปัญหาจากผลกระทบของ อปท.ในขณะนี้ ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าการใช้อำนาจแบบรัฐรวมศูนย์เป็นความล้มเหลวที่ไม่ได้ทำให้ อปท.สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักการของการกระจายอำนาจ” นายชำนาญกล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image