กมธ.แก้รธน.ยื่นรายงานต่อ “ชวน”แล้ว เตรียมเข้าวาระการประชุม 10 ก.ย.นี้

กมธ.แก้รธน.ยื่นรายงานต่อ “ชวน”แล้ว เตรียมเข้าวาระการประชุม 10 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. เวลา 11.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ​ เป็นประธานกมธ. พร้อมด้วยกมธ.ฯ เข้ายื่นรายงานของ กมธ.ฯ ​ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร หลังจากพิจารณาและจัดทำเนื้อหาแล้วเสร็จ

โดยนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า รายงานของกมธ.ฯ นำเสนอเนื้อหาเชิงวิชาการ โดยไม่ได้สรุปแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับของกมธ.ฯ แต่ได้นำเสนอความเห็นในแง่มุมต่างๆ เช่น ข้อเสนอ ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ในรายงานให้ความเห็นทั้ง 2 ด้าน ทั้งควรแก้ไข และไม่ควรแก้ไข ขณะที่การแก้ไขยังมีหลายแนวทาง อย่างไรก็ตามรายงานของกมธ.ฯ ไม่มีหลักการันตีว่าจะถูกนำไปพิจารณาเป็นเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่าเนื้อหาของกมธ.ฯ มีความเป็นกลาง ทั้งนี้ความเห็นส่วนตัวมองว่าหากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่เตรียมตั้งขึ้นจะนำไปศึกษาเพื่อเป็นฐานแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถดำเนินการได้เพราะในรายงานมีความเห็นทุกแง่มุม แต่ไม่ได้ศึกษาในเชิงลึก เช่นโครงสร้างของส.ส.ร.

ด้านนายโภคิน พลกุล ฐานะที่ปรึกษา กมธ.ฯ กล่าวว่าข้อเสนอของกมธ.ฯ เป็นสิ่งที่ตกผลึกร่วมกัน ส่วนข้อเสนอให้มีส.ส.ร. ทำรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นข้อเสนอที่เห็นว่าหากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายมาตราควรให้ส.ส.ร.ดำเนินการ ส่วนกรณีที่มีข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญหรือ ปิดสวิซต์ส.ว.นั้น ตนมองว่าเป็นข้อเรียกร้องที่สะสมไว้เพื่อให้ส.ส.ร.รับไปพิจารณาได้ ทั้งนี้ประเด็นต่างๆ ต้องใช้เวลา และไปทีละประเด็น โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตนเชื่อว่าจะเป็นไปตามกรอบของสันติวิธี

นายโภคิน กล่าวต่อว่า สำหรับเวลาที่จะใช้พิจารณานั้น คาดว่าฉบับแก้ไข จะเสร็จเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นคือตั้งส.ส.ร. โดยใช้เวลา 60 วัน จากนั้นยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่มีความเห็นคือ 120 วัน หรือ 240 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อตกลง จากนั้นจะนำร่างรัฐธรรมนูญให้สภาฯ เห็นชอบหรือทำประชามติ เป็นเรื่องต้องพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหากให้ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เนื้อหาจะออกมาเหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ต้องยอมรับ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้

Advertisement

จากนั้น กมธ.ฯ ได้มอบรายงานที่จัดทำให้กับนายชวน เพื่อพิจารณาบรรจุในระเบียบวาระ โดยนายชวน กล่าวว่า ตนจะตรวจสอบก่อนบรรจุในวาระ เบื้องต้นในวันที่ 10 ก.ย.นี้ รายงานจะอยู่ในระเบียบวาระการประชุม ทั้งนี้ในระเบียบวาระมีรายงานของกมธ.ที่ทำแล้วเสร็จบรรจุไว้หลายเรื่อง ดังนั้นรายงานฉบับดังกล่าวต้องบรรจุในลำดับต่อไป แต่หากที่ประชุมสภาฯ เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน สามารถขอมติให้เลื่อนพิจารณาได้

ทั้งนี้นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐในฐานะกมธ.ฯ กล่าวว่า ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ จะขอเลื่อนรายงานของกมธ.ฯ ขึ้นมาพิจารณาก่อน เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับระเบียบวาระประชุมสภาฯ พบว่าล่าสุด มีรายงานที่กมธ. พิจารณาแล้วเสร็จบรรจุรอพิจารณา ทั้งสิ้น 5 เรื่อง ได้แก่

Advertisement

1. รายงานของกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM ๒.๕) อย่างเป็นระบบ เรื่อง แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) อย่างเป็นระบบ, 2.รายงานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ เรื่อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ , 3.รายงานกมธ.วิสามัญพิจารณามีมติให้รับฟังความคิดเห็นของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว

4.รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิบัติตามกฎหมายของโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับและถนนยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โฮปเวลล์) ซึ่ง กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนพิจารณาเสร็จแล้ว และ 5.รายงานพิจารณาศึกษา เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ที่กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนพิจารณาเสร็จแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image