“ศบศ.”ถกวันนี้ ไร้รมว.คลังร่วม ลุ้นเคาะช่วยจ้างงาน-หาจ๊อบให้นศ.จบใหม่

“ศบศ.”ถกวันนี้ ไร้รมว.คลังร่วม ลุ้นเคาะช่วยจ้างงาน-หาจ๊อบให้นศ.จบใหม่-เร่งปั๊มเศรษฐกิจ

วันที่ 2 กันยายน คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ “ศบศ.” ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน (แต่จะไม่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วม เนื่องจากนายปรีดี ดาวฉาย ได้ลาออกจากตำแหน่งแล้ว ด้วยปัญหาสุขภาพ) โดยที่ประชุมจะมีการหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการว่างงาน

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวเมื่อวันที่ 1 กันยายนว่า ศบศ. จะหารือถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ เบื้องต้นจะเน้นมาตรการระยะสั้น รวมถึงจะมีการรับทราบเรื่องของการดูแลการจ้างงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานจะมารายงานให้ที่ประชุมทราบ

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว หลังจากไตรมาส 2/2563 ติดลบถึง 12.2% และแนวโน้มครึ่งปีหลังจะติดลบลดลง โดยประเมินจากตัวเลขหลายด้านที่ดีขึ้น การผลิตในภาคอุตสาหกรรมต่างๆเริ่มฟื้นตัว ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการท่องเที่ยว ลดปัญหาด้านแรงงาน และปรับโครงสร้างหนี้ ด้วยงบประมาณที่รัฐบาลเตรียมไว้

“ช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ ตั้งแต่ตุลาคมถึงธันวาคม จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาต่างๆ ต่อเนื่อง ซึ่ง ศบศ.ที่มีหน่วยรัฐและเอกชนอยู่ จะมีบทบาทในการขับเคลื่อน โดยตั้งคณะอนุกรรมเพื่อวิเคราะห์และออกมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งในการประชุมศบศ.วันที่ 2 กันยายน จะเห็นความคืบหน้าในการปลดล็อกเรื่องต่างๆ ที่เป็นรูปธรรมและนำไปปฎิบัติได้ต่อไป”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

Advertisement

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ในระยะแรกจะเน้นเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นท่องเที่ยว ลดปัญหาแรงงาน ดึงเอกชนมีส่วนร่วมในการจ้างงาน และมุ่งการปรับโครงสร้างหนี้ให้เอสเอ็มอี เพื่อให้เกิดสภาพคล่องการทำธุรกิจ โดยแผนงานนั้นจะทำไปปรับไปเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงเมื่อใด และวัคซีนออกมาใช้ได้จริงเมื่อไหร่ ส่วนแผนระยะกลางและยาว จะเน้นการปรับโครงสร้างประเทศตามยุทธศาสตร์ เดิมนั้นไทยมีการกำหนดเป้าหมายเป็นศูนย์กลางและส่งเสริมถึง 12 อุตสาหกรรม อาจต้องทบทวนและปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน

“จากนี้รัฐมนตรีทุกคน จะลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ เพื่อดูผลของมาตรการและงบประมาณที่เบิกจ่ายว่าได้ผลตามเป้าหมายแค่ไหน อย่างไร เรายังต้องเตรียมพร้อมและระมัดระวังอยู่หลายเรื่อง ตัวแปรสำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีน ถ้าเร็ว ก็จบเร็ว การฟื้นตัวเศรษฐกิจก็จะเร็ว”นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทย กล่าวว่า การประชุม ศบศ. ครั้งนี้เป็นการเข้าไปอัพเดตผลมาตรการครั้งก่อนว่ามีความคืบหน้าอย่างไบ้าง ก่อนหน้านี้เสนอแนะไปแล้วหลายเรื่อง อาทิ เรื่องการจ้างงาน ได้เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนภาคเอกชน ในเรื่องการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ 1 ปี โดยภาคเอกชนยินดีให้นักศึกษาเข้ามาฝึกงานในองค์กรเป็นเวลา 1 ปีเพื่อเพิ่มประสบการณ์ และเพิ่มโอกาสในการมีงานรองรับในอนาคตด้วย

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หารือกับผู้แทนทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ ผู้แทนธนาคารกรุงไทย และผู้แทนองค์กรภาคเอกชน เพื่อช่วยกันกำหนดมาตรการส่งเสริมการมีงานทำให้แก่นักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่ทั้งระดับปริญญาตรี ปวส.และ ปวช. ซึ่งในปี 2563 จะมีผู้สำเร็จการศึกษา 3.92 แสนคน

“กระทรวงแรงงานจะนำมาตรการส่งเสริมการมีงานทำแก่นักศึกษาที่จบใหม่นี้ เสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะประชาสัมพันธ์รายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการรับสมัครงานต่อไป”นายสุชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image