“ส.ว.”เสนอ ยกเลิกหมวดปฏิรูป ชี้เหมือนเป็นแค่พิธีกรรม ไม่ไปถึงไหน

ส.ว.เสนอยกเลิกหมวดปฏิรูป ชี้เป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น ไม่ไปถึงไหน

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม วาระพิจารณารายงานความคืบหน้าในการดำเนนิการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ประจำเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2563 โดยพิจารณารายงานการปฏิรูปด้านสาธารณสุข นายณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ส.ว. อภิปราย ตั้งคำถามต่อความจริงใจในงานปฏิรูป ว่า การทำงานปฏิรูปที่ผ่านมาคนทำงานอยากเปลี่ยน แต่คนที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนคือ ผู้บริหารระดับสูง เพราะไม่อยากสูญเสียอำนาจ ดังนั้นการปฏิรูปที่คืบหน้าต้องปรับโครงสร้างอำนาจใหม่ อย่างไรก็ตามจากการรับฟังข้อเสนอแนะของส.ว. ผู้ที่นำรายงานเสนอต่อวุฒิสภารู้สึกอย่างไร หรือมองเป็นเพียงวาทกรรม พิธีกรรมเท่านั้น หรือให้คุณค่ากับแผนการปฏิรูปหรือไม่ หากให้คุณค่าต้องเร่งรัด ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เคยตามเรื่องปฏิรูปในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ หากไม่ ต้องปรับกระบวนการกำกับงานปฏิรูปใหม่ ให้เป็นรูปธรรม มากกว่าการรายงานโดยข้าราชการ ผ่านสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นรูปเล่ม

ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ส.ว.อภิปรายว่า รู้สึกถึงการปฏิรูปผ่อนคลายความเร่งด่วนของงานปฏิรูปประเทศ และรู้สึกว่างานปฏิรูป ทำจริงจังหรือเร่งด่วนหรือไม่ ทั้งนี้มีบางกระแสต้องการให้ยกเลิกหมวดปฏิรูปประเทศในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพราะรู้สึกว่าไปไม่ถึงไหน แต่งานปฏิรูปยังต้องการให้เกิดขึ้น แต่ไม่ต้องการให้เขียนไว้ในกลไกปัจจุบัน อย่างไรก็ตามตนมีข้อเสนอต่องานปฏิรูปด้านสาธารณสุข ทั้งในด้านการรู้เท่าทันโรค และผลักดันเทคโนโลยีสู้โควิด-19 หากทำได้ ถือว่าการปฏิรูปยังจำเป็น แต่หากทำไม่ได้ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่ต้องการการปฏิรูปในรูปแบบที่เขียนไว้ในกลไกรูปแบบเดิม

ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีโอกาส แต่ไม่ทำ โดยเฉพาะเร่งสร้างศักยภาพกับสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยวัคซีน สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ หากไม่เร่งหาวัคซีนเพื่อป้องกัน

“ทั้งนี้ประเทศไทยโชคดีมีเทคโนโลยีใหม่ ชื่อว่า เอ็มอาร์เอ็นเอ กับมหาวิทยาลัยเพนซีวาเนีย ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกแย่งเพื่อใช้สูตรเบื้องต้นทดสอบ ไทยติดต่อกับบริษัทในต่างประเทศได้สำเร็จ แต่ต้องวางเงินมัดจำ 1ล้านยูเอสดอลล่า ซึ่งประเทศไทยมีเงินสำหรับวัคซีน 1,000 ล้านบาท โดยครม.อนุมัติหลักการและเตรียมเงิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่สามารถนำเงิน 30 ล้านบาทเพื่อไปวางมัดจำได้ เนื่องจากกลัวคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินสอบ เพราะนำเงินที่เป็นภาษีประชาชนไปวางในสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ เพราะวัคซีนเป็นเรื่องไม่แน่นอน ทั้งนี้การกลัวระบบตรวจสอบที่จำเป็นแต่มีผลข้างเคียง ทำให้ไม่มีใครกล้าวางเงิน แม้จะเป็นเรื่องสุจริต เพราะระบบไม่เอื้อ แต่สุดท้ายมีผู้ใจบุญโอนเงิน 30ล้านบาทไปให้ไม่เกี่ยวกับระบบราชการหรือตรวจสอบ ดังนั้นต้องปฏิรูป ผ่านมติครม. ทำช่องทางพิเศษ เพื่อเปลี่ยนแปลงการอนุมัติงบประมาณสำหรับโรคอุบัติใหม่ ทั้งนี้คาดว่า 2027 โคโรน่าไวรัสลำดับที่8 จะทำให้เกิดโรคอุบัติใหม่อีก เพราะโรคอยู่ในระบบนิเวศน์ หากคนเที่ยวป่า กินสัตว์ป่า รับรองหนีไม่พ้น และหากไม่เร่งพัฒนาวัคซีนจะพบความทุกข์ร่วมกันอีกครั้ง” นพ.เฉลิมชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image