แกนนำพันธมิตร นปช. กปปส. เตรียมร่วมเวทีแลกประสบการณ์ก่อนม็อบ 19 ก.ย.

แกนนำพันธมิตร นปช. กปปส. เตรียมร่วมเวทีแลกประสบการณ์ก่อนม็อบ 19 ก.ย.

เมื่อวันที่ 16 กันยายน นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายนนี้ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนจะจัดเวทีถอดบทเรียนการชุมนุมในวันพรุ่งนี้ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยเชิญอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ อดีตแกนนำ กปปส. อดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภา 2535 คนเดือนตุลาคม 2516 และอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 มาร่วมถอดบทเรียนการจัดการชุมนุมทางการเมืองในอดีต เพื่อสังเคราะห์บทเรียน วิธีการจัดการปัญหาและร่วมหาทางออกจากความรุนแรง หากมีความสุ่มเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากผู้ไม่หวังดี รวมถึงการประสานความร่วมมือ และความคาดหวังจากหน่วยงานรัฐบางส่วนที่มีหน้าที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลและกรุงเทพมหานคร

นายเมธา กล่าวว่า ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นายสมชาย หอมละออ คนเดือนตุลาและอดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข อดีตกรรมการ สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) พ.ศ. 2534และอดีตแกนนำนักศึกษาในเหตุการณ์พฤษภา‘35 นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็น
ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)และนางสาวณัฏฐา มหัทธนา อดีตแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง นอกจากนี้ จะมีการแลกเปลี่ยน ซักถาม สะท้อนมุมมองจากมุมวิชาการและผู้สังเกตการณ์ โดย ศาสตราจารย์ ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และนักวิชาการด้านสันติวิธี และนางสาว ฐาปนีย์ เอียดศรีไชย สื่อมวลชน

นายเมธากล่าวอีกว่า ตนได้ไปร่วมประชุมเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนและองค์กรภาคประชาชนบางส่วน ที่อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) เพื่อประเมินสถานการณ์การเมือง โดยผมมีความเห็นโดยรวมร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนบางส่วนว่า การต่อสู้ทางการเมือง เป็นเรื่องระยะยาว 19 กันยายนนี้ คงไม่จบในวันเดียวหรือ #ให้มันจบในรุ่นเรา เพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางการเมืองยังไม่สำเร็จ มาเจอ 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535 ผ่าน 19 กันยายน ถ้าฝ่ายประชาชนชนะไปยกที่หนึ่ง ก็จะได้รัฐธรรมนูญและเสรีนิยมประชาธิปไตย หลังจากนั้นยกต่อไปภาคประชาชนก็ต้องมาต่อสู้เรื่องทรัพยากร เรื่องความยากจน ความเหลื่อมล้ำในระบบทุนนิยมประชาธิปไตย เผด็จการนายทุนพรรคการเมืองในรัฐสภา เศรษฐกิจผูกขาดและเสรีนิยมใหม่ ก่อนจะได้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แนวทางการปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงจึงไม่มีวันหยุดหรือที่สิ้นสุด การมีส่วนร่วมและกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจในระยะยาวจึงมีความสำคัญ

“กระแสหลักในขณะนี้คือความขัดแย้งระหว่างแนวทางอนุรักษ์นิยมและเสรีประชาธิปไตย ที่การเมืองไทยย้อนยุคไปในช่วงแผนชิงชาติไทย ในปี 2490-2500 เหตุการณ์กลับมาวนรอบในความขัดแย้งเก่าโดยมีอเมริกาและจีนเป็นองค์ประกอบเหมือนเดิมในการเมืองระหว่างประเทศ และอาจมีความเสี่ยงอาจเกิดการรัฐประหารเหมือนจอมพลสฤษดิ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ขณะที่แนวทางสังคมประชาธิปไตยแบบรัฐสวัสดิการ เป็นทางเลือกหนึ่งของการปฏิรูปประชาธิปไตยในระยะยาว

Advertisement

ทางเลือกของรัฐบาลในขณะนี้เพื่อลดความขัดแย้ง อาจมีเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีและการช่วงชิงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา และหรือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาเดิมที่ ส.ว.สามารถกลับมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ แล้วภาคประชาชนสามารถทำอะไรได้บ้าง” นายเมธากล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image