นักวิชาการ ฉะ ‘รัฐประหาร’ สุดล้าหลัง ชวนแสดงออกเชิงรุก ‘สร้างคลื่นใต้น้ำ-สังคมยุคใหม่’

นักวิชาการ ฉะ ‘รัฐประหาร’ สุดล้าหลัง ชวนแสดงออกเชิงรุก ‘สร้างคลื่นใต้น้ำ-สังคมยุคใหม่’

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 กันยายน ที่ห้องประชุม 14 ตุลา อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง กรุงเทพฯ สโมสรนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “รัฐประหารและการต่อต้านขัดขืน”  

โดย ดร.กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การรัฐประหาร ขอนิยามสั้นๆ ว่า คือการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำลายระบอบประชาธิปไตยเสรี ไม่ว่าจะวิธีใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธข่มขู่ หรืออื่นๆ ยังแทนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยกลุ่มผู้ปกครองที่ไม่ได้มาจากประชาชน ฉะนั้น การรัฐประหารทำลายหลักการทางรัฐศาสตร์ที่สำคัญหลายประการ คือ 1.หลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน หรือ อำนาจในการสถาปนารัฐบาลและระบอบการเมืองอยู่ที่ประชาชนตัดสิน ดังนั้น การรัฐประหารจึงขัดกับหลักการความเสมอภาคทางการเมือง และการให้ความสำคัญกับ 1 คน 1 สิทธิ 1 เสียง 3.ทำลายหลักการว่าด้วยผู้แทน คนที่สนับสนุนรัฐประหารจะไม่นิยมผู้แทน รังเกียจนักการเมือง มองว่าจะมาหลอก จูงจมูกประชาชน นิทานว่าด้วย “โง่ จน เจ็บ” คือการไม่เชื่อว่า ส.ส.ในรัฐสภาจะเป็นผู้แทนของปวงชนได้ เขาจึงไม่เรียกตัวเองเป็นผู้แทน ใช้คำอื่น คือ คนดี คนกอบกู้วิกฤต

อันที่จริง เหตุการรัฐประหาร หากมองในบริบทการเมืองโลกเป็นอะไรที่ล้าหลังมาก เพราะเป็นการละเมิด ประชาธิปไตยเสรี ซึ่งเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองที่สังคมโลกยอมรับกัน  ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกคนมองว่าระบอบนี้ไม่มีปัญหา อาจจะมีปัญหา นำไปสู่การเหลื่อมล้ำ หรืออื่นๆ ได้ เช่น การเมืองสหรัฐอมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ มาจากการเลือกตั้ง มีคนต่อต้านมาก แต่ไม่มีใครเสนอการแก้ปัญหาด้วยการรัฐประหาร แม้เขาจะสำเหนียกดีว่า การเมืองที่เป็นอยู่มีปัญหา จะเห็นว่า การรัฐประหารห่างไกลจากประสบการณ์ของคนในประเทศที่พัฒนาแล้ว

“การรัฐประหารเป็นยาแรงของชนชั้นนำ หรือนายทุน เพื่อล้มกระดานแล้วสถาปนาระบอบใหม่ ที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คือการเซตซีโร่ทางสังคม จากการมองว่า สังคมกำลังช็อก จึงฉวยโอกาส รัฐประหารไทย ปี 49 อาจเห็นไม่ชัดมาก มาชัดเจนคือ รัฐประหารปี 57 มีการอยากเซตซีโร่ทางการเมืองมากขึ้น มีการเรียกคนปรับทัศนคติ และอื่นๆ

Advertisement

“กลุ่มทุนสายคุณทักษิณตกต่ำลง กลุ่มทุนสายจารีตขึ้นมามีอำนาจ กล่อมเกลาสังคมขนานใหญ่ ออกเพลงประพันธ์โดยผู้นำ ใส่ค่านิยม 12 ประการไว้ในบทเรียน ในทางเศรษฐกิจจะเห็นหลายโครงการ เช่น บัตรสวัสดิการคนจน ธงฟ้าประชารัฐ ที่เอื้อคนบางกลุ่มเท่านั้น ไล่ที่ประชาชน ทวงคืนผืนป่า ใช้กฎหมายพิเศษเพื่อกรุยทางให้กับทุนเอกชน ไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศให้ทุน เช่น จีน เข้ามาทำเหมือง ซี่งชาวบ้านต่อต้านเพราะเดือดร้อนจากการถูกไล่ที่” ดร.กรพินธุ์กล่าว

เมื่อถามว่า หากเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง จะมีวิธีการต่อต้านอย่างไร

ดร.กรพินธุ์กล่าวว่า นอกจากจะเชื่อมโยงการต่อต้านกับแนวคิดทางการเมืองแล้ว หากไม่มีการต่อต้านของคนรุ่นก่อนๆ ที่ได้กรุยทางเอาไว้ 3 นิ้วที่ทรงพลังวันนี้ก็เป็นผลพวงก็มาจาก 3 นิ้วเมื่อปี 57

การต่อต้านในเชิงทฤษฎีการเมือง แบ่งเป็น 1.การต่อต้านเชิงรับ คือ การไม่ยอมรับอำนาจ ของผู้ที่ขึ้นมา ไม่ปฏิบัติตาม บอกว่าห้ามรวมตัวเกิน ก็จะรวมตัว คุณเป็นใครเราไม่ได้เลือกคุณมา หากทรราชย์มาจับตัวเรา นักต่อต้านเหล่านี้ยอมให้จับ ลงโทษ ใช้ความทนทุกข์ของตนเอง ทรมาน สะท้อนความเสื่อมโทรมของระบอบ ให้สังคมได้รับรู้ การต่อต้านเช่นนี้มีราคาแพง เช่น ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ใช้ร่างกายของตัวเองและรถแท็กซี่ที่หาเลี้ยงชีพ ขับรถตัวเองชนรถถังทหาร รถลุงพัง ร่างกายบาดเจ็บ ยังใช้ชีวิตของตัวเองเป็นเครื่องมือ ผูกคอหน้าสำนักงานของไทยรัฐ เพื่อลบคำสบประมาทที่ว่าไม่มีใครพลีชีพเพื่ออุดมการณ์ กล่าวคือ ใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือต่อต้าน สถานที่นี้ก็เป็นสถานที่ที่ลุงเคยมาเยือนก่อนผูกคอตาย นับว่าเป็นการต่อต้านเชิงรับ แต่สิ่งที่ลุงหวังอาจเป็นการต่อต้านเชิงรุกก็ได้ ลองนึกถึงเสื้อที่ลุงใส่วันที่กระทำอัตวิบากกรรมมีกลอนประพันธ์ โดย กุสายประดิษฐ์

“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหา ประชาชน”

คือการรุกขึ้นมาท้าทาย ไม่ว่าเชิงสัญลักษณ์ หรือกายภาพ หากอิงหลักทฤษฎีการเมืองโบราณ ถ้าอำนาจไม่ชอบธรรม สามารถใช้ความรุนแรงขัดขืนได้ แต่เราอยู่ในสังคมอารยะอาจจะทำไม่ได้แล้ว จึงทำได้หลายวิธี เช่น ใช้สัญลักษณ์ ท้าทาย การรวมตัวชุมนุม เป็นต้น

“รัฐประหาร ปี 49 ไม่นับลุงนวมทอง สังคมยังไม่เกรี้ยวกราด คิดไม่ถึงกับความสูญเสีย แต่จะเห็นการรวมตัวของคนจำนวนหนึ่งที่สนามหลวง ของเครือข่ายมวลชน หลายเครือข่าย แบบหลวมๆ ลุกขึ้นมาต่อต้าน มีนักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มร่วม เพดานในการโจมตีตอนนั้นไปไกลสุดคือ เรื่ององคมนตรี มีการแจกสมุดปกม่วง ซึ่งจะเห็นความแตกต่างกับในปัจจุบัน”

“ล่าสุด การรัฐประหาร 57 ด้วยความที่ปราบปรามอย่างหนัก มีการปิดกั้น ใช้กฎหมายดำเนินการ แต่ยังเห็นการยืนหยัด ไม่ยอมจำนนของคนธรรมดา 1.มีการรวมตัวกันที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบ้าง 2.ใช้สัญลักษณ์ในการต่อต้าน เช่น การกินแซนด์วิชที่พารากอน ยังไม่รวมการชูสามนิ้วที่มีผู้ต่อต้านจำนวนมาก ทำกันมาแล้ว วัฒนธรรมเหล่านี้คือ คลื่นใต้น้ำ เมื่อเวลาให้กระแสจุดติด วัฒนธรรมที่เคยถูกทำอย่างกระจัดกระจาย กลับมามีพลังมากขึ้น สามนิ้วกลายเป็นวัฒนธรรมต่อต้านที่ทุกคนทราบกันดี 3.ต่อต้านด้วยการไม่ไปรายงานตัว โดยเลือกที่จะลี้ภัย ต้านรัฐประหาร ไม่ยอมรับ ซึ่งวิธีนี้ใช้ต้นทุนราคาแพง แต่วันนี้คนเหล่่านั้นกลับกลายเป็นผู้นำคนสำคัญ ขับเคลื่อนจากต่างประเทศ เป็นพลังมาจนปัจจุบัน

“ตาสว่าง ปากกระซิบ ยุคมืดบอด ได้ผ่านไปแล้ว กำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ปากสว่างด้วย เราตะโกนได้แล้ว พูดแบบคน สามารถวิพากษ์ระบอบการเมือง และชนชั้นนำได้ในที่แจ้ง ถกด้วยเหตุผลเยี่ยงอารยชนทั่วไป ขอให้ยุคนี้มาถึง พร้อมสนับสนุน” ดร.กรพินธุ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image