‘วิษณุ’ ยัน ไม่เคยคุย ส.ว. ส่งร่างแก้รธน.ของรัฐบาลเสียบ เชื่อไม่มีใครมองยื้อเวลา ยกเว้นสื่อ

‘วิษณุ’ ยัน ไม่เคยคุย ส.ว. ส่งร่างแก้รธน.ของรัฐบาลเสียบ ชี้ ตั้งกมธ.ยื้อเวลาไม่ใช่เทคนิคสภา มองเป็นโอกาสดี ‘ร่างไอลอว์’ อาจเข้าพิจารณาพร้อมกัน

เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 25 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่สมาชิกรัฐสภา ลงมติโหวตแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ ที่จะต้องใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน ว่า หลังจากที่มีการศึกษาพิจารณาแล้ว ก็จะนำกลับเข้ามาแจ้งสภาฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร โดยไม่ต้องนำเข้าสู่กระบวนการรับหลักการอีก และอาจจะลงมติได้ทันที ส่วนกรอบเวลาพิจารณาคือ 1 เดือน แต่เราไม่ทราบว่าเขาจะใช้เวลาพิจารณาเท่าไหร่ สำหรับข้อถกเถียงว่าญัตติทั้ง 6 ฉบับ จะขัดต่อข้อบังคับอะไรหรือไม่ ให้ไปถกเถียงกันใน กมธ. และเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนของไอลอว์ อาจถูกหยิบยกขึ้นมาหารือใน กมธ.ชุดดังกล่าวด้วยก็ได้ หากกมธ.เขาจะนำมาพิจารณา เนื่องจากร่างแก้ไขก็คล้ายกันทั้งนั้น อย่างไรก็ตามผลการประชุมที่ออกมา ไม่ใช่เรื่องเทคนิคของสภา แต่เป็นเรื่องปกติที่เป็นไปตามข้อบังคับ เหมือนครั้งที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เคยระบุว่ามีร่างกฎหมายที่ส.ส.เสนอ ซึ่งรัฐบาลขอนำมาตั้งกมธ. เพื่อศึกษาก่อน เป็นต้น ไม่ใช่เรื่องเทคนิคอะไร

ขณะที่ความคืบหน้าเรื่องการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังดำเนินการอยู่คาดว่า จะเสร็จภายในไม่กี่วันนี้ จากนั้นจะส่งสภา ซึ่งก็คงจะใกล้เคียงกับที่มีการศึกษาญัตติแก้ไขร่าง พอดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านไม่เข้าร่วมใน กมธ.ดังกล่าวจะมีปัญหาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะเคยเกิดแบบนี้มาหลายครั้ง

เมื่อถามถึงกรณีที่ส.ว.บางคน อ้างว่าที่ต้องยื้อเวลาศึกษาออกไปอีก 30 วัน เพื่อรอร่างแก้ไขที่มาจากรัฐบาล นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยพูดคุยและไม่ทราบว่าใครพูดอย่างไร และแปลว่าอะไร จึงอาจจะเป็นการเดาไป โดยโอกาสเป็นไปได้ก็มี แต่ยืนยันว่ารัฐบาลไม่เคยมีการพูดคุยกับ ส.ว. โดยผู้ที่สามารถเสนอร่างได้คือ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมาชิกรัฐสภา และประชาชน เข้าชื่อ 50,000 คน เมื่อถามย้ำว่าหากรัฐบาลจะเสนอร่างแก้ไขเข้าไปร่วมด้วยจะใช้เวลานานแค่ไหน รองนายกฯ กล่าวว่า ไม่นาน หากจะช้าก็คือขั้นตอนการจัดทำร่าง แต่สามารถใช้ช่วงเวลาที่ปิดสมัยประชุมดำเนินการได้

Advertisement

เมื่อถามว่า หากจะมีการทำร่างของรัฐบาลจะเสนอพร้อมกันกับญัตติ 6 ฉบับได้เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ได้ หากจะมีการเสนอ แต่ยังไม่เคยได้ยินเรื่องนี้

เมื่อถามว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีเสียงวิจารณ์ว่าเป็นการยื้อเวลาและไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ทราบ ไม่มีใครมอง มีแต่สื่อมอง รัฐบาลไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้ในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ก่อนหน้านี้ มีคนอธิบายว่าถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน รัฐบาลอย่ามาเอาหน้าเพราะไม่ได้ทำอะไร แต่พอถึงเวลาตั้ง กมธ. แล้วจะดึงรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องทำไม ส่วนที่รัฐบาลไม่เสนอร่างของตัวเอง แต่เสนอในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเขาไปตกลงกันว่าจะทำในนามของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเห็นตรงกันต้องแก้ไข แต่มีหลายประเด็นที่เห็นไม่ตรงกัน จึงอาจทำในนามของรัฐบาลได้ยาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างถึงข้อสังเกตว่านับจากนี้การเมืองนอกสภา อาจจะรุนแรงขึ้น นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มอง ตนไม่มองอะไรที่รุนแรง

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image