‘พช.’ เดินหน้า 3 มาตรการเชิงรุก กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ลดหนี้ต่ำทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ หลักสี่ กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการบริหารจัดการหนี้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมีนางทรงลักษณ์ วรภัย ผู้ตรวจราชการกรม ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กล่าวรายงาน ในการนี้ได้เรียนเชิญ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มาเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เรื่อง “การบริหารจัดการหนี้” ด้วยการอบรมครั้งนี้ดำเนินการระหว่างวันที่ 25-26 กันยายน มีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้อำนวยการกลุ่มงาน นักวิชาการพัฒนาชุมชนที่รับผิดชอบงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และพนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 235 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้จังหวัดมีแนวทางการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีในด้านการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสมาชิกกองทุนฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถลดจำนวนหนี้ค้างชำระ รวมทั้งหาแนวทางป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นมาอีก อันเป็นการลดภาระในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจการจัดทำงบการเงิน การรวบรวมเอกสาร หลักฐาน ประกอบการจัดทำงบการเงินปี 2563 ให้ถูกต้อง และเพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสะท้อนปัญหาของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ

อธิบดีพช. กล่าวในการบรรยายว่า พช.ขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพเห็นได้จากผลสำเร็จของร้อยละการบริหารจัดการหนี้ค้างชำระจากร้อยละ 30 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 9.30 ในช่วงเวลาเพียง 9 เดือน ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนงานที่มีประสิทธิภาพมาก และขอขอบคุณและให้กำลังใจในความทุ่มเท ตั้งใจ และเสียสละ เพื่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีและประโยชน์ของสตรีทั่วประเทศ ในความสำเร็จดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในทิศทางที่ดีที่มีการขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกภาคส่วน การขับเคลื่อนงานในเชิงรุกนั้นมี 3 ประเด็นหลักสำคัญได้แก่ การมุ่งเน้นการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับสตรีได้นำเงินที่ได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์และตรงตามวัตถุประสงค์ รวมทั้งขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนให้ครอบคลุม สื่อสารประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของกองทุน เพื่อให้เป็นผลดีของส่วนรวมและประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และความภาคภูมิใจของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่เป็นกองทุนของสตรี เพื่อสตรีทั่วประเทศ และที่สำคัญต้องให้เข้าใจว่าดอกเบี้ยที่เก็บกับสมาชิกเป็นแค่เพียงสิ่งที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนฯ เท่านั้นเอง

ประเด็นที่ 2 คือเจ้าหน้าที่ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะกรรมการฯ ระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ให้ขับเคลื่อนงานอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องประเมินความเสี่ยงทุกโครงการฯ ที่สมาชิกกองทุนฯ เสนอมาว่ามากหรือน้อยเพียงใด เช่นการเลี้ยงหมู ของกลุ่มสตรีจังหวัดเชียงราย เป็นโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำ โอกาสที่จะขาดทุนแทบไม่มีเพราะเขาเลี้ยงหมูหลุม ไม่ได้ลงทุนโครงสร้างโรงเรือนต่างๆ อาหารก็หาในพื้นที่ เช่น ให้กินหยวกกล้วย เป็นต้น ประเด็นที่ 3 คือการบริหารจัดการหนี้ มีรายได้ก็ต้องใช้หนี้ ต้องควบคุมบริหารสัญญาให้เป็นไปตามกำหนด ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกอย่างต่อเนื่องผ่านทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เช่นการตั้งกลุ่มไลน์สอบถามถึงปัญหาอุปสรรคในช่วงต้นของการอนุมัติเงินทุน ในระหว่างดำเนินกิจกรรม และสุดท้ายการชำระหนี้ด้วยความเป็นมิตร

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เปรียบเหมือนสายน้ำที่ไหลไปสู่สตรีทั่วประเทศ มีเจ้าหน้าที่และทีมงานเป็นต้นน้ำที่ต้องตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีกลไกการขับเคลื่อนที่มีทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม เป็นกลางน้ำ และปลายน้ำที่มีสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่ได้รับประโยชน์จากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้เป็นกองทุนของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของสตรี ครอบครัว และลูกหลายในรุ่นต่อๆไป ให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นน้ำในโอเอซิสกลางทะเลทรายของชีวิตสตรีและครอบครัว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตรายครัวเรือน สู่หลายครัวเรือน ขยายเป็นชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด และประเทศ”
อธิบดีพช. กล่าวทิ้งท้าย ว่า “ความสำเร็จอยู่ที่คนทำงาน ทีมงานที่ขับเคลื่อน การตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของกองทุน ระบบและเครื่องมือเป็นเพียงปัจจัยประกอบ หากมีความเชื่อมั่นและศรัทธาย่อมสามารถทำทุกสิ่งและผ่านไปได้”

ด้านดร.วันดี กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จำเป็นต้องสร้างเชื่อมั่นให้กับสมาชิกกองทุนฯ และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสาธารณชนทั่วไป ว่าสามารถเป็นแหล่งทุนในการในการสร้างงาน สร้างรายได้ และส่งเสริมพัฒนาศักยภาพสตรีให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพได้อย่างแท้จริง โดย สำนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พช. ได้จัดจ้างที่ปรึกษาผู้ตรวจสอบบัญชีสากล (KPMG) หรือ Big 4 มาเป็นที่ปรึกษาในการวางแผนและจัดทำระบบการเงินและบัญชี โดยมีการทบทวนแนวทางของการจัดทำการเงินและบัญชีของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พร้อมร่วมกันวางแผนและออกแบบระบบการเงินและบัญชีที่มีความทันสมัย สามารถรองรับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และเป็นระบบที่ครอบคลุมในการปฏิบัติการอื่นๆ เพื่อความถูกต้อง แม่นยำ และประเด็นสำคัญคือ เพื่อการได้รับการรับรองงบการเงิน ปีบัญชี 2562 จากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

Advertisement

ประธานสภาสตรีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะเป็นกองทุนเพื่อสตรี และคุณภาพชีวิตสตรีที่ดีขึ้นต่อไป และเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนและพนักงานกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทั่วประเทศที่ร่วมมือ ร่วมใจ ตั้งใจ และทุ่มเทในการดำเนินงานขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้อย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพต่อไปก็”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image