กมธ.เตรียมวางกรอบ ถกแก้ไขรธน.ก่อนรับหลักการ จ่อนำร่างไอลอว์ 1แสนชื่อรวมด้วย

กมธ.ศึกษาร่างรธน. ถกนัดแรก 30 ก.ย.วางกรอบพิจารณา “ไพบูลย์” เผย เตรียมขอรายงานกมธ.วิสามัญฯมาให้กมธ.ด้วย ยัน 30 วันเพียงพอ

เมื่อวันที่ 27 กันยายน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ ว่า ทางกมธ.จะมีการประชุมนัดแรกในวันพุธที่ 30 กันยายน โดยจะเป็นการเลือกตำแหน่งๆต่างๆ ในกมธ. อาทิ ประธาน รองประธาน เลขาโฆษก เป็นต้น รวมทั้งกำหนดกรอบการทำงาน ทั้งนี้ นอกจากการพิจารณาร่างทั้ง 6 ฉบับแล้ว ส่วนตัวจะให้มีการนำเอกสารรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีกว่า 1000 หน้า มาให้กับกมธ.ทุกคนด้วย เพราะรายงานฉบับดังกล่าวทางส.ว.ยังไม่เห็น เพื่อจะได้นำมาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ กรอบระยะเวลา 30 วันเพียงพอต่อการพิจารณา โดยเชื่อว่าจะเสร็จทันภายในกรอบเวลา แต่การจะพิจารณาได้ต้องรอเปิดสมัยประชุมหน้า อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพิจารณาจะเป็นประโยชน์ นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

เมื่อถามว่า มีการพูดคุยถึงบุคคลที่จะทำหน้าที่เป็นประธานกมธ.หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เบื้องต้นคงต้องรอแบบทางการดีกว่า

เมื่อถามว่า การพิจารณาครั้งนี้ควรนำร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์เข้ามาพิจารณาด้วยหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ร่างของไอลอว์นั้นควรเอาเข้ามาพิจารณาด้วย เพราะขณะนี้มีตัวร่างแล้วเพียง แต่อยู่ระหว่างตรวจรายชื่อ ก็จะรวมเป็น 7 ร่าง

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า สำหรับกรอบการพิจารณาของกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ จำนวน 6 ฉบับ ระยะเวลา 30 วัน น่าจะเพียงพอ เป็นการคุยกันในกรอบ วิธีการ และปัญหา คงไม่ได้คุยกันถึงเนื้อหามากนัก เพราะได้มีการอภิปรายกันไปแล้วทั้งฝ่ายสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญและฝ่ายที่ค้านกับร่างรัฐธรรมนูญ

Advertisement

เมื่อถามว่า ส.ว.เหมือนตกเป็นจำเลยของสังคมเพราะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความล่าช้า นพ.เจตน์ กล่าวว่า จะพูดว่าล่าช้าตนมองว่าไม่ได้ล่าช้าหรอก ถ้าเป็นไปตามกรอบ 30 วัน มันจะมีข้อดี ได้พิจารณากันอย่างรอบคอบ และหากตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ก็จะทำให้มีร่างของประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ถือว่ามีประโยชน์และมีความรอบคอบในประเด็นที่ทางสมาชิกรัฐสภาได้มีการอภิปราย ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ผลของการลงประชามติมีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 16.8 ล้านเสียง ต่อ 10.5 ล้านเสียง แน่นอนว่าเวลาผ่านไป ก็อาจจะมีการเปลี่ยนไปได้ คนที่เห็นชอบก็อาจไม่เห็นชอบ คนที่ไม่เห็นชอบก็อาจเห็นชอบ แต่ผลของการประชามติ เราต้องยอมรับ ถามว่าจะมาแก้รัฐธรรมนูญ ยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ถามประชาชนแล้วหรือไม่ รวมทั้งประเด็นที่สมาชิกอภิปรายในเรื่องของความไม่ชัดเจนในหลายๆเรื่อง ดังนั้น จำเป็นต้องคุยกันให้ตกผลึกในเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image