‘วิษณุ’บอก ‘นายกฯ’ เปล่าส่งซิกรับร่างแก้รธน. แค่หัวหน้าพรรคร่วมพยักหน้ารับ

‘วิษณุ’ เผย ‘นายกฯ’ เปล่าส่งซิกรับร่างแก้รธน. รัฐบาล-ฝ่ายค้าน แค่ปราภรภก่อนประชุมครม. และหัวหน้าพรรคร่วมฯ พยักหน้ารับ ชี้ ตั้ง กมธ.พิจารณา ไม่เตะถ่วงเวลา เหตุทำในช่วงปิดสมัยประชุม รับรู้ ‘ส.ว.’ ดันทำประชามติก่อนตั้ง ส.ส.ร.

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสมาชิกวุฒิภา (ส.ว.) เห็นควรให้พูดคุยในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ … พ.ศ. … ก่อนรับหลักการ โดยไม่เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีที่จะมาส่งสัญญาณให้รับญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงหากจะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ต้องมีการทำประชามติเสียก่อนว่า เป็นความเห็นของส.ว. แต่ถึงอย่างไรทุกอย่างจะต้องไปพูดคุยกันในกรรมาธิการฯ ซึ่งตั้งขึ้นตามข้อบังคับเพื่อพิจารณาก่อนรับหลักการ รัฐบาลหรือตนคงออกความเห็นอะไรไม่ได้ โดยร่างนั้นเป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล 1 ร่างและเป็นร่างของพรรคฝ่ายค้าน 1 ร่าง ซึ่งหลักการคล้ายคลึงกัน และร่างของพรรคฝ่ายค้านแต่เป็นการแก้ไขรายมาตราอีก 4 ร่าง ร่างของไอลอว์อีก 1 ร่าง ซึ่งของไอลอว์นั้นประธานรัฐสภากำลังตรวจสอบ ทั้งหมดจะเข้าไปสู่การพิจารณาของกรรมาธิการฯ และได้ยินว่าเขาจะนำบทสรุปหรือข้อสังเกตของกรรมาธิการชุดของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่าเป็นการดี เพราะตอนที่ชุดของนายพีระพันธุ์ เสนอนั้น ยังไม่มีร่างใดเลยแม้แต่ร่างเดียว ดังนั้นจึงต้องนำมาเทียบกันทั้งหมด จะต้องใช้เวลา 30 วันนี้ ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งที่เป็นข่าวและวิจารณ์กันว่ารัฐบาลส่งสัญญาณอะไรนั้น เมื่อวันอังคารที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา ตนก็นั่งอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นด้วย แต่ไม่เห็นว่าเป็นการส่งซิกใดๆ ทั้งนั้น เป็นเพียงมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง เป็นธรรมดาของทุกวันอังคารก่อนการประชุมครม. ที่รัฐมนตรีคนไหน หรือหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคนไหนมีข้อหารือหรือเล่าให้นายกรัฐมนตรีฟัง ก็มาพูดคุยเป็นธรรมดา ไม่ใช่เป็นการประชุมอะไรด้วยซ้ำไป เนื่องจากมีคนอื่นๆ อยู่ด้วยหลายคน เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย เลขาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งส่วนใหญ่พูดคุยกันเรื่องวัคซีนว่าจะทำอย่างไร ที่จะเอาเข้ามาได้โดยเร็ว พูดกันถึงเรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และอีกหลายเรื่องที่สภาพัฒน์ฯ ต้องจัดการ

“และมีการพูดถึงเรื่องปัญหารัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ปรารภขึ้นมาว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น สมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลได้ลงชื่อกันไปจำนวนมากกว่า 200 คน เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่พรรคร่วมรัฐบาล เมื่อเสนอแล้วก็ต้องเข็นต่อไป จะไปกลับลำได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่นายกฯ พูด และทุกพรรคก็เห็นด้วย ทั้งท่านอนุทิน ท่านจุรินทร์ ท่านวราวุธ ต่างก็เห็นด้วยว่าถูกต้อง นายกฯ ก็บอกว่าอันนี้คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ส่วนการที่จะทำความเข้าใจอย่างไรต่อไปกับคนอื่นซึ่งในที่นี้หมายถึงสมาชิกรัฐสภา ทั้งผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และประชาชน ก็รอฟังกรรมาธิการว่าเขาว่ากันอย่างไร เพราะถ้าออกมาตรงกันก็จะได้ไม่ต้องเหนื่อยอธิบาย แต่ถ้าไม่ตรงกันก็ต้องช่วยกันอธิบาย พูดกันแค่นี้ ไม่ได้ส่งซิกส่งอะไร ส่วนวุฒิฯ ท่านจะพูดกันอย่างไรก็ถูก เพราะถือเป็นผู้มีสิทธิเสียบบัตร หรือผู้มีสิทธิออกเสียง หรือขานชื่อ ท่านจะเอาอย่างไรก็ต้องแล้วแต่ท่าน แต่ทั้งหมดนี้ คงต้องคุยกันในกรรมาธิการก่อน ไม่อย่างนั้นจะตั้งขึ้นมาหาอะไร และตอนที่นายกฯ พูด คือวันอังคาร กรรมธิการยังไม่ได้ประชุมกัน ซึ่งเขาเพิ่งประชุมกันนัดแรกในวันพุธ” นายวิษณุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถึงอย่างไร เสียงของส.ว.ก็มีส่วนสำคัญในการที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะส.ว.มีตั้ง 250 เสียงต้องขอรอฟังการพูดคุยของกรรมาธิการฯ กันเสียก่อนเพื่อให้เกิดตกผลึก ตนได้พูดประโยคสำคัญ พวกคุณสังเกตหรือไม่ เพราะถ้าสังเกตให้ดีจะมีอะไรซ่อนอยู่ ตนบอกว่าทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมาธิการฯ ถ้ากรรมาธิการฯ ออกมาตรงกับแนวของเรา มันก็ได้ แต่ถ้าไม่ตรงกัน ก็ต้องไปช่วยกันทำความเข้าใจกับส.ส. ส.ว.และประชาชน เมื่อถามย้ำว่า มีส.ว.บางคนเรียกร้องให้ทำประชามติก่อนจะตั้งส.ส.ร. นายวิษณุ กล่าวว่า มีบางคนพูดเท่านั้น ซึ่งตนได้ยินมานานแล้ว ก็ไม่เป็นไร ทั้งนายสมชาย (แสวงการ) นายไพบูลย์ (นิติตะวัน) ก็พูด ก็ไม่เป็นไร ก็ถือเป็นข้อเสนอและเป็นข้อสังเกตที่ดี และนั่นคือสิ่งที่พูดกันมาก่อนจะมาตั้งกรรมาธิการ เพราะการพูดอย่างนั้นจึงเป็นที่มาของการตั้งกรรมาธิการตามข้อบังคับ 121 วรรค 3 เพราะเกิดตกใจขึ้นมาว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ที่เคยมีมานั้นตรงกับกรณีที่เกิดขึ้นในเวลานี้หรือไม่ เพราะในวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้บอกไว้จริงๆ ว่า อำนาจมาจากประชาชน เมื่อมาจากประชาชนก็ต้องกลับไปถามประชาชน แล้วหลักดังกล่าวจะนำมาใช้กับครั้งนี้ได้หรือไม่ อันนี้ก็สุดแท้แต่ ซึ่งตนมีความเห็นแต่ไม่อยากพูด ดังนั้นควรไปพูดคุยกันในกรรมาธิการ ในเมื่อมีเวลาแล้วก็พูดกันใน 30 วันนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์

“30 วันนี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อจะถ่วงเวลาใดๆ ทั้งสิ้น เพราะได้อธิบายแล้วว่า ถึงจะรับหลักการในวาระที่ 1 แล้วสมมติว่าไม่ได้ตั้งกรรมาธิการ ก็ยังเดินหน้าต่อไม่ได้ และอย่างมากก็ตั้งกรรมาธิการพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 จนกระทั่งเปิดสภาฯ มาพิจารณาวาระ 2 รายมาตรา จนกระทั่งพิจารณาเสร็จแล้วทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อพิจารณาวาระ 3 เสร็จแล้วก็ต้องทิ้งไว้อีกเป็นเดือนๆ เพราะว่ายังไปทำประชามติไม่ได้ ซึ่งผมทำปฏิทินไว้ในใจว่า กว่ากฎหมายประชามติจะผ่าน ก็ไปถึงกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่ทำเสร็จในเดือนธันวาคม ก็ต้องทิ้งเอาไว้อยู่ดี เพราะต้องรอ ไม่เช่นนั้น ไม่รู้จะไปลงประชามติกันอย่างไร ฉะนั้นก็ต้องใช้เวลา ซึ่งก็รอบคอบ ดังนั้นใครที่นั่งฟังอยู่ บางคนก็บอกว่ากลัวอย่างนั้น บางคนก็บอกว่ากลัวอย่างนี้ บางสิ่งที่กลัวบ้างก็ไม่มีเหตุผล บางสิ่งก็อาจจะมีเหตุผล ก็ควรนำมาถกกันเสียในช่วงที่สภาฯปิด30วันนี้ เพราะถ้าสภาฯไม่ปิด การตั้งกรรมาธิการฯ เป็นการถ่วงเวลาจริงๆ แต่เมื่อสภาฯปิดสมัยประชุม 30 วัน ทำอะไรก็ไม่ได้ในสภาฯ จึงใช้เวลานี้ให้เป็นประโยชน์ ถ้าทำเสร็จเร็วไม่ถึง 30 วัน ก็ยิ่งดี และถึงอย่างไรก็ต้องรอเปิดประชุมสภาฯ วันที่ 2 พฤศจิกายนอยู่ดี

Advertisement

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การจะเปิดวิสามัญฯ นั้นยุ่งยากพอสมควร เพราะต้องมีพระราชกฤษฎีกาเปิดสภาฯ แล้วยังต้องมีพระราชกฤษฎีกาอีกฉบับหนึ่งเพื่อปิดสภาฯ ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าไม่ต้องเปิดวิสามัญฯ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่แน่ อาจจะเปิดก็ได้ เพราะการเปิดสภาฯ สมาชิกก็เข้าชื่อกันขอเปิดได้ เพราะการเปิดสภาฯวิสามัญนั้นทำได้ 2 แบบ โดยครม.ขอเปิด และสมาชิกสภาฯ เข้าชื่อกันขอเปิด แต่ในเมื่อจะเปิดสภาฯ อยู่แล้วในวันที่ 1 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ดังนั้นก็ต้องเปิดวันที่ 2 พฤศจิกายน ก็สามารถประชุมร่วมกันได้เลย ก็ไม่ได้เสียเวลาแต่อย่างใด ส่วนความมั่นใจก็รอฟังทางกรรมาธิการฯ ส่วนตนเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่เข้าชื่อกันเสนอนั้น เขาก็มีความมั่นใจของเขาแล้ว เชื่อว่าในกรรมาธิการฯ พูดกันเดี๋ยวเดียวก็เข้าใจ ในเมื่อแต่ละคนมีเหตุผลทั้งนั้นก็ให้นำมาพูดกัน

“หากรับหลักการในวาระ1 แล้วตั้งกรรมาธิการฯ 45 คน ซึ่งคนนอกเป็นกรรมาธิการฯ ไม่ได้ เพื่อให้มาตรวจแก้ร่างฯ ซึ่งครั้งนี้ยังไม่ได้เป็นการร่างส.ส.ร.แต่เป็นเพียงการเปิดทางให้มีส.ส.ร. ซึ่งกรรมาธิการฯ 45 คนนั้นต้องมาจากสมาชิกรัฐสภา ครม.ส่งคนไปไม่ได้ คนนอกเป็นไม่ได้ แม้แต่ร่างไอลอว์ของประชาชน ถ้าเข้าไปได้แล้วรับหลักการให้วาระ1 ไอลอว์ก็เป็นกรรมาธิการฯ ไม่ได้ แต่ไปชี้แจงได้” นายวิษณุ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image