‘มหาดไทย’ ชง ครม. เคาะวันนี้ เลือกตั้งท้องถิ่นรอบ 6ปี

มหาดไทย ชง ครม. เคาะวันนี้ เลือกตั้งท้องถิ่นรอบ 6ปี ‘พรเพชร’ เชื่อ ส.ว.ไม่ตีตก 6ร่างญัตติแก้ไขรธน. ไม่ฟันธงทำประชามติก่อน-หลัง ‘บิ๊กแก้ว’ ลั่นทหารไม่คิดปฏิวัติ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม กลับมาเป็นกระแสอีกทั้งกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ หลายพรรคการเมืองเริ่มลงพื้นเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งที่รอทางกระทรวงหมาดไทยเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการเลือกตั้งท้องถิ่นในรอบกว่า 6 ปี โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ถึงกระแสข่าวมีการกำหนดวันเลือกตั้งท้องถิ่นระดับต่างๆ ว่า ไม่ทราบ แต่เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นเจ้าของเรื่องได้หารือกับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และตกลงในหลักการแล้ว โดยทางกระทรวงมหาดไทยจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับใดบ้าง หาก ครม.เห็นชอบจะแจ้งไปที่ กกต.เพื่อให้กำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครเลือกตั้ง ที่ชัดเจน ส่วนกระแสข่าวที่ออกมานั้นถือว่ายังไม่ชัดเจน

ส่วนในการประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีการพูดคุยเรื่องของเงินอุดหนุนในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะเรื่องของงบของอาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยการประชุมของคณะกรรมการในแต่ละครั้ง จะพิจารณาเรื่องเงินในหลายส่วน อย่างไรก็ตาม ที่มีการทักท้วงว่าเมื่อมีการโอนภารกิจและบุคคลนั้นก็ควรจะโอนงบประมาณให้กับท้องถิ่นมาด้วยเช่นกันซึ่งต้องทำเรื่องแจ้งให้รัฐบาลทราบต่อไป

เมื่อถามกรณีที่นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. โดยเร็วเพื่อแก้ปัญหา นายวิษณุกล่าวว่า ต้องมีการจัดเลือกตั้งอยู่ดี ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นมีอยู่ 4 ระดับ คงจะเป็นในวันใดวันหนึ่ง โดยไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน ส่วนจะเลือกอะไรก่อนหลังขึ้นอยู่กับความจำเป็นของประชาชนมากกว่าความสะดวกของผู้สมัคร

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 ตุลาคม มท.จะเสนอเรื่องการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละรูปแบบเพื่อให้ ครม.พิจารณา โดยเสนอความพร้อมของแต่ละท้องถิ่นว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นให้ ครม.พิจารณากำหนดเลือกรูปแบบว่าจะเลือกตั้งอย่างไหนก่อนหลัง จากนั้นเป็นหน้าที่ของ กกต.จะกำหนดวันอีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่นักวิชาการออกมาท้วงติงว่า หาก ส.ว.ไม่เปลี่ยนจุดยืนในการลงมติรับหลักการเพื่อเปิดทางแก้รัฐธรรมนูญจะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ว่าทำลายประชาธิปไตยว่า เชื่อว่า ส.ว.ตั้งจุดยืนในการลงมติในชั้นรับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ญัตติ และไม่เห็นว่ามีใครมีจุดยืนใด โดยน่าจะเป็นเพียงข้อกังวลว่าญัตติจะไม่ผ่านวาระรับหลักการ ทั้งนี้ ส.ว.ต้องระมัดระวังในการลงมติ โดยส่วนตัวเห็นว่าจุดยืนในความเป็นจริงที่ต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง คือ ส.ว.ต้องมีอิสระ เพราะ ส.ว.ไม่ใช่นักการเมือง ต้องมีดุลพินิจ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ นี่คือจุดยืน ส.ว.ที่ต้องพิจารณารัฐธรรมนูญให้ดี เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เชื่อว่า ส.ว.จะรับฟังผลการพิจารณาของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาญัตติของรัฐสภา ก่อนพิจารณาลงมติ

“เรื่องนี้ไม่ใช่ธงที่ตั้งไว้ ทำไมต้องถูกตีตกไป ยืนยันไม่มีความคิดเรื่องนี้ จากที่ฟังเสียงของ ส.ว. แต่ละคนจะรับฟังผลศึกษา แต่ละร่างไป ซึ่ง 2 ญัตติแรกก็มีการพิจารณาควบคู่กันไปคือแก้มาตรา 256 และการตั้ง ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนอีก 4 ญัตติเป็นการแก้เฉพาะเรื่อง ต้องดูความเห็น ส.ว. และขอให้สื่อมวลชนติดตามรายงานการศึกษาของ กมธ. ซึ่งผลการศึกษาไม่ได้ชี้นำการลงมติ แต่จะแจงในข้อกฎหมาย” นายพรเพชร กล่าว

ส่วนข้อกังวลของ ส.ว.บางส่วนว่าจะต้องทำประชามติถามความเห็นประชาชนก่อนการแก้รัฐธรรมนูญว่าเห็นด้วยหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ลำบากใจในการตอบ เพราะเรื่องนี้ยังเป็นข้อถกเถียงของนักกฎหมาย จึงพยายามไปศึกษาเช่นกันว่าเป็นอย่างไร ทราบว่าขณะนี้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาขึ้นมาแล้ว จึงต้องรอฟังรายงาน และหลังจากนี้ต้องดูว่า ส.ว.จะพิจารณาอย่างไร เพราะฝ่ายหนึ่งบอกว่าให้ทำประชามติก่อนที่การรับหลักการหรือหลังรับหลักการ จะต้องให้ได้ข้อยุติหากดำเนินการไม่ถูกต้องอาจขัดต่อกฎหมายได้ ซึ่งยอมรับตามตรงว่ายังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ จึงยังไม่สามารถตอบได้ชัดขณะนี้ นอกจากนี้ ยังไม่ได้นำรายชื่อ 5 ส.ว.ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ และคาดการณ์ไม่ได้ว่า จะแล้วเสร็จทันต่อเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในญัตติการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

Advertisement
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)

ที่กองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) แถลงภายหลังการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 1/2563 ถึงบทบาทกองทัพกับการเมือง ว่า เรื่องการเมืองเป็นเรื่องการบริหารประเทศตามอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ทหารเป็นกลไกของรัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการช่วยเหลือประชาชน ส่วนด้านการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในส่วนของผู้เกี่ยวข้องกับการเมือง บทบาททหารไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่สิ่งที่อาจจะเกี่ยวพันหรือทาบทับกันคือเรื่องความมั่นคงของรัฐ ที่เป็นหน้าที่โดยตรงของทหาร ซึ่งไม่ต้องมีผู้ใดสั่ง แต่ภาพการปฏิบัติเราอยู่ภายใต้กรอบแนวทางนโยบายรัฐบาบทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องความมั่นคง

“ส่วนของทหารเรามีประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเชื่อมั่นอย่างที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการปกครองที่แย่น้อยที่สุดในภาพของสังคมโลก เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ได้รับโอกาสและสิทธิต่างๆ ลดความยากลำบาก มีมาตรฐานและคุณภาพชีวิต การปฏิวัติไม่ได้อยู่ในความคิดของทหารในปัจจุบัน” พล.อ.เฉลิมพล กล่าว

เมื่อถามว่า ผู้บัญชาการเหล่าทัพจะต้องเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง จะวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้มี ส.ว. เพื่อให้ผู้มีความรู้ความสามารถมีประสบการณ์ของบ้านเมืองมาเป็นหลักดูแล ทั้งด้านกฎหมาย และการดำเนินการต่างๆ เป็นเพียงห้วงเวลาหนึ่ง ทางผู้บัญชาการเหล่าทัพและ ผบ.ตร.ก็เป็น ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถพูดได้ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่มีข้อกฎหมายกำหนดไว้ เราปฏิบัติตามภาระหน้าที่ เมื่อเข้ามาเป็น ส.ว.ก็จะได้รับการชี้แจง การดำเนินการปฏิบัติในแต่ละบุคคลไป

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ขณะที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการติดตามค่าเสียหายจากทุจริตโครงการจำนำข้าวและการขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ที่จะหมดอายุความในเดือนมกราคม 2564 ว่า รัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้งในเรื่องนี้ ติดตามเรื่องนี้เป็นพิเศษ ได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลลงไปติดตามว่าผลการดำเนินการเป็นอย่างไร ซึ่งคดีความที่จะขาดอายุในเดือนมกราคม 2564 นั้นยังมีเวลาอยู่

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดติดตามการดำเนินการเกี่ยวกับการทุจริตตามโครงการรับจำนำข้าวที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าร่วมด้วย จากนั้น พ.ต.ท.วันนพ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการเก็บรักษาข้าวที่เก็บอยู่ในโกดังขององค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีของหลายหน่วยงาน ในส่วนของ ป.ป.ท.ก็รับผิดชอบอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีการชี้มูลไปบางส่วน และบางส่วนอยู่ระหว่างการไต่สวน โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้า ซึ่งนายวิษณุ ได้กำชับว่า จะต้องติดตามเร่งรัดให้ดำเนินคดีโดยเร็วทุกหน่วย โดยเฉพาะคดีที่อยู่ใน ป.ป.ท., คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตำรวจ อย่างไรก็ตาม สำหรับการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่งนั้น ป.ป.ท.ไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบเรื่องดังกล่าว เพราะ อ.ต.ก. และ อคส. เป็นผู้ดำเนินการในส่วนนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image