‘ณัฐพงษ์’ ถาม เปลี่ยน รมว.คลัง แล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนทิศทางพัฒนา ศก.ไทย หรือยัง?

“ณัฐพงษ์” ถาม เปลี่ยน รมว.คลัง แล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนทิศทางพัฒนา ศก.ไทย หรือยัง?

 

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และรองเลขาธิการพรรคด้านสารสนเทศ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กสอบถามว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแล้ว ถึงเวลาเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยแล้วหรือยัง โดยมีรายละเอียดดังนี้

หลังจากธนาคารโลก หรือ World Bank ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ -8.3% และมีโอกาสตกต่ำลงไปถึง -10.4% เหตุเพราะไทยพึ่งพารายได้จากการส่งออก ภาคบริการ และภาคการท่องเที่ยว เป็นหลัก ฉุดเอาสถานการณ์เศรษฐกิจในภาคส่วนอื่น ๆ แย่ลงไปด้วย เราจะเห็นข่าวได้ว่าบริษัทต่างชาติหลายบริษัทที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทย อย่างเช่น บริษัท Panasonic และบริษัท Mitsubishi ได้เริ่มโครงการให้ลูกจ้างสมัครใจลาออก และเริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศเนื่องจากมีค่าแรงพื้นฐานที่ถูกกว่าไทย

วันนี้ดูสถานการณ์แล้วไทยกำลังเสียขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้านในทุกๆ ด้าน นอกจากค่าแรงจะไม่ถูกเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เทคโนโลยีที่เป็นของตัวเองที่จะมาขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจก็ไม่มี ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลชุดนี้ที่เพิ่งจะมีหัวหอก รมว.คลังฯ คนใหม่จะกลับมาคิดทบทวนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเสียใหม่?

Advertisement

พวกเรามองไม่เห็นว่ากลยุทธ์ที่มุ่งแต่การดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยรัฐบาลยอมลด แลก แจก แถม สิทธิพิเศษต่างๆ มากมายให้กับนักลงทุนในยุควิกฤตโควิด-19 แบบที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นี้ ไม่ว่าจะเป็นเมกะโปรเจ็กต์อย่าง EEC ฯลฯ จะเป็นทางออกให้กับประเทศตรงไหน? ประเทศไทยในวันนี้ ไม่ว่าเราจะยอมลด แลก แจก แถม สิทธิพิเศษในการลงทุนสักแค่ไหน ก็คงไม่เซ็กซี่พอที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนชาวต่างชาติได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ได้ หรือเป็นเพราะแนวคิดของอดีต รมว.คลัง ที่เคยกล่าวในที่ประชุมสภาไว้ว่า

“คนไทยไม่มีปัญญา ขาดวิทยาการ ขาดความสามารถ ที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆ เลยต้องดึงนักลงทุนจากต่างประเทศที่มีชื่อเสียง ที่เก่งในแต่ละด้าน เข้ามาร่วมทำงานกับเรา”

ยังติดตรึง ส่งอิทธิพล และฝังอยู่ในกระบวนการคิดของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้รัฐบาลชุดนี้ยังไม่เล็งเห็นโอกาส ยังไม่เชื่อในศักยภาพคนไทย จึงยังไม่ให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ให้เกิดในประเทศนี้อย่างดีเพียงพอ?

Advertisement

ผมขอยกตัวอย่าง ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) หนึ่ง ที่ใช้เงินลงทุนไม่เยอะ (โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินปีละ 3.3 ล้านล้าน) เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้แล้วในทันที และเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีแต่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่ทำได้ เพราะรัฐเป็นผู้ถืออำนาจและเป็นผู้ถือข้อมูลไว้อยู่ในมือแต่เพียงผู้เดียว ต่อให้เป็นบริษัท tech firm ข้ามชาติที่เก่งขนาดไหนอย่าง Google หรือ Facebook ก็ไม่สามารถทำแข่งกับรัฐบาลไทยได้ นั่นก็คือ Digital ID แพลตฟอร์มที่นอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกรรมหรือดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ แล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศโดยการต่อยอดนำไปใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลระหว่าง รัฐ-เอกชน และ เอกชน-เอกชน ได้อย่างปลอดภัย

Digital ID จะเป็นเทคโนโลยีด้านข้อมูลที่ประเทศไทยเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง และเทคโนโลยีนี้จะไม่ใช้แค่ฐานข้อมูลหรือระบบกรอกแบบฟอร์มอัตโนมัติ แต่ในยุคใหม่นี้ข้อมูลคือทรัพยากรที่ทรงคุณค่าและมีมูลค่ามหาศาลถึงขั้นที่บทความในเว็บไซต์ wired ได้กล่าวว่า “Data Is the New Oil of the Digital Economy” ซึ่งแปลว่า ข้อมูลคือน้ำมันในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล หากเปรียบเทียบในปัจจุบันกับประเทศที่ร่ำรวยด้วยการขุดเจาะน้ำมันจากทรัพยากรธรรมชาติ และได้ผลผลิตตั้งแต่น้ำมันเบนซินไว้เติมรถ ยางมะตอยไว้ทำถนน หรือแม้แต่นำสิ่งที่ได้มาสังเคราะห์พลาสติกเพื่อทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ หากเป็นเช่นนี้ในอนาคตข้อมูลก็จะมีคุณค่าไม่ต่างจากน้ำมัน ในยุคปัจจุบันที่จะสามารถให้เกิดการสร้างสรรค์โอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจ ในอุตสาหกรรมการเงินธนาคารสามารถปล่อยกู้ให้พ่อค้ารายย่อยที่ต้องการขยายแผงค้าขายในตลาด ให้เขามีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น โดยไม่ต้องขอหลักทรัพย์ค้ำประกันอะไรมากมาย เพราะธนาคารสามารถเข้าถึงประวัติการใช้จ่ายเงินของพ่อค้าคนนั้น เพื่อนำมาประกอบการประเมินเรตติ้งการให้สินเชื่อผ่านการเข้าถึงข้อมูลการใช้จ่ายเงินของพ่อค้าที่ถูกเก็บไว้ใน Digital ID ของผู้ขอสินเชื่อได้ในทันที ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ผู้ป่วยจะเป็นเจ้าของข้อมูลการรักษาของตัวเองและมีสิทธิในการเลือกใช้บริการทางการแพทย์ที่หลากหลายขึ้น บริษัทประกันสามารถแข่งขันกันออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการคุ้มครองความเสี่ยงด้วยเบี้ยประกันที่ถูกลงเพราะบริษัทประกันสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างละเอียดแม่นยำและข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น การคัดกรองบุคลากรในบริษัทเอกชนก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อประวัติการศึกษา ประวัติการทำงานต่างๆ นั้นถูกจัดเก็บไว้อยู่ใน Digital ID ที่ปลอมแปลงไม่ได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ by product ที่ได้รับจากการขุด “บ่อน้ำมันยุคดิจิทัล” ของตัวเองและจะดีแค่ไหนถ้าไทยสามารถมี “บ่อน้ำมันยุคดิจิทัล” ที่มีมูลค่ามหาศาลและนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนา สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ให้ประเทศไทยเกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและตอบโจทย์ของประชาชนอย่างแท้จริง

และนี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ในประเทศที่มีรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เขาเลือกลงทุนอย่างถูกวิธี อย่างเช่น ประเทศเอสโตเนีย ที่มี e-ID ประเทศสิงคโปร์ ที่มี SingPass หรือประเทศอินเดีย ที่มี AADHAAR เป็นต้น [6] ซึ่งไม่เฉพาะกับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจเท่านั้นที่ Digital ID สามารถนำไปต่อยอดได้ไม่รู้จบ การพัฒนาทางด้านการเมืองก็สามารถนำ Digital ID ไปประยุกต์ใช้ได้ด้วยเช่นกัน ลองนึกถึงการรับฟังความคิดเห็น การเลือกตั้ง หรือการทำประชามติ ที่สามารถทำออนไลน์ได้ถ้าเรามีระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลที่ใช้ในการยืนยันตัวบุคคลในโลกออนไลน์ได้อย่าง Digital ID ดูสิ? รัฐไทยจะสามารถส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยทางตรงได้มากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพขนาดไหนจากเดิมที่การทำประชามติแบบออฟไลน์นั้นต้องใช้เม็ดเงินงบประมาณครั้งละหลายพันล้านบาท?

จากข่าวแต่งตั้ง “ขุนคลัง” คนใหม่ ไม่รู้ว่าเราจะเห็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจทิศทางใหม่จากรัฐบาลชุดนี้อย่างการ “ขุดบ่อน้ำมันยุคดิจิทัล” หรือไม่ หรือว่าเราจะยังเห็นมาตรการลด แลก แจก แถมเรียกแขกให้มาลงทุนแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ไม่รู้เหมือนกันนะครับ

[ เปลี่ยน รมว.คลังฯ ถึงเวลาเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทย หรือยัง? ].หลังจากธนาคารโลก หรือ World Bank…

โพสต์โดย ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ – Natthaphong Ruengpanyawut เมื่อ วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม 2020

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image