ส.ว.หนุนกมธ.ต่อเวลา พิจารณาแก้รธน. ด้าน ส.ส.พรรคร่วมรบ. งง จ่อถามเหตุผล

ส.ว.หนุนยืดเวลาทำงาน กมธ.พิจารณาแก้รธน.อ้างยังมีหลายประเด็นต้องแสดงความเห็น ยันไม่ได้ยื้อเวลาแน่นอน ด้าน “นิกร”เตรียมถามที่ประชุม 19 ต.ค.นี้ เหตุขอขยายเวลา 15 วัน

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม นายสมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.)พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) ก่อนรับหลักการ กล่าวถึงการขอขยายเวลาการประชุมกมธ.ตามที่ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.เตรียมเสนอเรื่องต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่า ตนสนับสนุนเพราะมองว่าการงดประชุมกมธ.ฯ จำนวน 2 นัด เมื่อวันที่ 15 – 16 ตุลาคม หลังจากที่มีความกังวลเรื่องการชุมนุมและการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ราชการสำคัญนั้นทำให้ช่วงเวลาพิจารณาหายไป แม้วันที่ 19 ตุลาคม จะนัดประชุมเพิ่มเติมก็ตาม ทั้งนี้ การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องสำคัญ​ดังนั้นควรทำให้รอบคอบ และไม่ควรเร่งรัดจนเกินไป

เมื่อถามว่า กรณีที่งดประชุมเพราะมีคำสั่งจากฝ่ายความมั่นคงนั้น มีคนตั้งข้อสังเกตว่าคือการแทรกแซงงานนิติบัญญัติ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่มีการแทรกแซง แต่ต้องรับฟัง เพราะหากมีคนเตือนว่า รัฐสภามีบุคคลขู่วางระเบิดต้องรับฟัง ทั้งนี้การชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่มวลชนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ อยู่ใกล้กับรัฐสภาด้วย กมธ.ฯ ต้องให้ความร่วมมือ และเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมนั้น กมธ.นัดประชุมและพิจารณาไปได้เพียง 1ชั่วโมง 30 นาทีก่อนเห็นพ้องร่วมกันว่าให้ยุติการประชุม

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ขณะนี้การทำงานของกมธ.​ยังมีวาระพิจารณาที่สำคัญ​คือ การรับฟังความเห็นของกมธ.ฯ ต่อญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา ทั้ง 4 ฉบับและการพิจารณาการจัดทำรายงานกมธ. รวมถึงรายงานของอนุกมธ.ฯ ด้านกฎหมาย ทั้งนี้กมธ. เห็นร่วมกันว่าจะไม่ลงมติเพื่อชี้ขาด ดังนั้นการทำงานคือการรับฟังความเห็นของกมธ.ฯ​ทุกคน และทำบันทึกความเห็นเสนอต่อรัฐสภา โดยส่วนตัวให้ความเห็นไปแล้ว ในหลายประเด็น อาทิ ญัตติเสนอแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และ มาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจส.ว.ที่ติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะการปฏิรูปประเทศและพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยกาปฏิรูป ตนเห็นว่าสามารถแก้ไขได้โดยอำนาจของรัฐสภา และไม่ต้องนำไปทำประชามติ เพราะอยู่นอกเหนือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อีกทั้งหากแก้ไข ควรปรับเนื้อหา ซึ่งตนเสนอร่างแก้ไขแล้ว คือ อำนาจการติดตามการปฏิรูปให้เป็นอำนาจร่วมกันของส.ว. และ ส.ส. เพื่อให้รัฐมนตรีและข้าราชการให้ความสำคัญ

นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรา 159 และมาตรา 272 เกี่ยวกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในรัฐสภา ที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือก ตนมองว่ามาตราที่ให้อำนาจ ส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ นั้นมาจากการเสนอคำถามพ่วงตอนทำประชามติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ดังนั้นควรทำประชามติถามประชาชน แต่ยังมีประเด็นพิจารณาคือ จะทำประชามติก่อนแก้ไข หรือหลังแก้ไข อย่างไรก็ตามยังมีกมธ.หลายคนที่ยังไม่ได้ให้ความเห็นในเรื่องต่างๆ จึงต้องให้ความเป็นธรรมและสิทธิต่อการแสดงความเห็นด้วย ดังนั้นการขยายเวลาทำงานไม่ใช่เพื่อยื้อเวลาแน่นอน

Advertisement

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะกมธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ กล่าวถึงกรณีที่กมธ.จะต่ออายุการทำงานนออกไปอีก 15 วันว่า ตนไม่ทราบว่า กมธ.ขอขยายเวลาการทำงานออกไปจากเดิมที่จะสิ้นสุดวันที่ 23 ตุลาคมนี้จริงหรือไม่ โดยปกติการขอขยาย ประธานกมธ. ต้องแจ้งต่อที่ประชุมกมธ.​เพื่อให้รับทราบหรือขอมติ แม้ตามข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาจะให้อำนาจประธานกมธ.ดำเนินการได้ ทั้งนี้ ในการประชุมกมธ.วันที่ 19 ตุลาคมนั้น คงต้องสอบถามอีกครั้งว่า เป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม การทำงานของกมธ. รวมถึง อนุกมธ.ทั้ง 2 ชุดยังเดินหน้าทำงานเพื่อให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด แม้สัปดาห์นี้ไม่สามารถนัดประชุมได้ตามกำหนดเวลาเพราะสถานการณ์ทางการเมืองก็ตาม แต่ตนเข้าใจว่า กรอบการทำงาานของกมธ.ต้องทำให้เสร็จสมบูรณ์ก่อนการเปิดสมัยประชุมสภาฯ วันที่ 1 พฤศจิกายน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image