‘ไอลอว์’ เปิดหลักสากล ‘สลายการชุมนุม’ ชี้ต้องไม่ฉีดน้ำเล็งตัวคน ไม่ใช่สารเคมีพื้นที่ปิด

‘ไอลอว์’ เปิดหลักสากล ‘สลายการชุมนุม’ ชี้ต้องไม่ฉีดน้ำเล็งตัวคน ไม่ใช่สารเคมีพื้นที่ปิด

จากกรณีการสลายการชุมนุม กลุ่มคณะราษฎร ที่แยกปทุมวัน ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 16 ตุลาคม โดยมีการฉีดน้ำผสมสารเคมี ทำให้มีอาการแสบตา และติดสีตามร่างกาย จนนำไปสู่เหตุการณ์ชุลมุน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ilaw ได้เผยแพร่บทความ เรื่องหลักสากล สำหรับการชุมนุมและการสลายการชุมนุม โดยมีเนื้อหาว่า

“หลักสากล” สำหรับการชุมนุม และการสลายการชุมนุม
๐ ICCPR รับรองเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ
๐ หลักการพื้นฐาน ของ UN การชุมนุมที่ไม่ก่อความรุนแรง ต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือใช้เท่าที่จำเป็น
๐ แนวปฏิบัติของ UN ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ใช้เพื่อหยุดความรุนแรง ไม่เล็งตัวบุคคล
๐ แนวปฏิบัติของ UN การใช้สารเคมี เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัว การใช้ในพื้นที่ปิดเสี่ยงต่อชีวิต

16 ตุลาคม 2563 ผู้ชุมนุม “คณะราษฎร63” นัดหมายกันที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในเวลา 17.00 ต่อมาย้ายไปที่สี่แยกปทุมวัน โดยในช่วงเวลาประมาณ 18.45-19.30 ตำรวจชุดปราบจราจล พร้อมโล่ กระบอง และรถฉีดน้ำ เข้าใช้กำลังสลายการชุมนุมโดยเริ่มจากการกระชับพื้นที่เข้าใกล้ผู้ชุมนุม และประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม โดยให้เวลา “5 นาที” เมื่อผู้ชุมนุมไม่เลิกจึงเกิดการปะทะกันบริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม

Advertisement

ฝ่ายตำรวจใช้กำลังหลายร้อยนายตั้งแถวหลายชั้นเดินเข้าหาผู้ชุมนุม และใช้รถแรงดันน้ำฉีดไปที่ผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแรงดันน้ำและถอยแนวร่นไปทางสี่แยกปทุมวัน โดยยังมีการใช้น้ำสีฟ้าฉีดสลับกัน ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า รู้สึกแสบตาและแสบบริเวณผิวหนัง การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ ถือเป็นการใช้ความรุนแรง ซึ่งตำรวจอ้างเสมอว่าได้ “ทำตามหลักสากล”

ชวนดูหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการชุมนุม และหลักปฏิบัติหากเจ้าหน้าที่จะสลายการชุมนุม ดังนี้

Advertisement

1) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights : ICCPR) ข้อ 21 กำหนดว่า สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง การจำกัดการใช้สิทธินี้จะกระทำมิได้ นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็นสำหรับสังคมประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของชาติหรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชนหรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น

2) หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Basic Principles of the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials) ที่รับรองโดยสหประชาชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อจำเลย เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน 2533 ที่กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา ข้อ 12 กำหนดว่า ประชาชนมีสิทธิเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมายและโดยสงบ ซึ่งถ้าหากมีการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กำลังนั้นก็จะต้องเป็นไปอย่างจำกัด ตามหลักการ ที่ว่า

1. หากเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้เท่าที่จำเป็น

2. หากเป็นการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เจ้าหน้าที่ของรัฐ อาจใช้อาวุธได้ หากไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่อันตรายน้อยกว่านี้ได้

3. หลักปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย (Code of Conduct for Law Enforcement Officials) ที่ได้รับการรับรองโดยมติที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติที่ 34/169 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2522 ข้อ 2 กำหนดว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เจ้าหน้าที่จะต้องเคารพและคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิมนุษยชนของบุคคลทุกคน และในข้อ 3 ได้ระบุว่า การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งและเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น

4. แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของ OHCHR ได้กำหนดวิธีการใช้อาวุธแต่ละประเภทไว้ชัดเจน ดังนี้

๐ ปืนใหญ่ฉีดน้ำ หรือ Water Canon ออกแบบมาเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะสลายการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพย์สินหรือหยุดพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง โดยทั่วไปแล้ว ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะใช้ในสถานการณ์ที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะนำไปสู่การเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างรุนแรงในวงกว้าง “เท่านั้น” โดยวัตถุประสงค์ที่จำเป็นและได้สัดส่วน การตระเตรียมการใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำควรจะต้องวางแผนการอย่างดี และควรใช้ภายใต้คำสั่งที่เคร่งครัด ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ปืนใหญ่ฉีดน้ำ ไม่ควรใช้ยิงใส่บุคคลในระดับสูง ในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บระดับสอง (Secondary Injury) ความเสี่ยงอื่นๆ รวมถึง อาการช็อคเพราะอุณหภูมิร่างกายต่ำลงจากน้ำเย็นในภาวะที่อากาศหนาว และความเสี่ยงจากการลื่นล้ม หรือการถูกฉีดอัดกับกำแพง การใช้ปืนใหญ่ฉีดน้ำนั้นต้องให้ผลที่ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่สามารถใช้แบบเล็งไปที่ตัวบุคคลโดยเฉพาะได้

๐ การใช้สารที่ก่อและความระคายเคืองทางเคมี (Chemical Irritants) ต้องใช้จากระยะไกลต่อกลุ่มคนที่เข้าร่วมก่อความรุนแรง มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ชุมนุมกระจายตัวและหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง การใช้สารดังกล่าวในพื้นที่ปิดอาจทำให้เกิดการเหยียบย่ำกันเองของฝูงชน และก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เลือกฝ่ายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของทิศทางลม และอากาศเกิดอันตรายต่อชีวิตหากใช้ในพื้นที่ปิดในจำนวนมาก การใช้สารดังกล่าวกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรงอาจทำให้บุคคลดังกล่าวขยับเข้ามาใกล้ผู้บังคับใช้กฏหมายมากขึ้นทำให้มีความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากันมากขึ้น การใช้สารที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองทางเคมีอาจก่อให้เกิดความยากลำบากในการหายใจ อาการเวียนหัวอาเจียนหรือการระคายเคืองในระบบหายใจ ต่อมน้ำตา ลูกตา อาการกระตุก เจ็บหน้าอก ผิวหนังอักเสบ หรืออาการแพ้ ในจำนวนมากอาจเกิดน้ำท่วมปอด เซลในระบบหายใจและระบบย่อยอาหารตาย และเลือดออกภายใน คนที่ถูกสารเหล่านี้ต้องได้รับการฆ่าเชื่ออย่างเร่งด่วนที่สุด

การใช้กระสุนเคมีระคายเคืองต้องไม่ยิงไปหาบุคคล หากโดนหน้าหรือหัวอาจเกิดอันตรายต่อร่างกายและชีวืต และต้องไม่ใช้ในพื้นที่ปิดหรือที่ไม่มีอากาศถ่ายเทพอ ไม่ควรใช้สารเคมีที่ก่อความระคายเคืองที่มีระดับของสารอันตรายสูง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image