‘สถาบันพระปกเกล้า’ ส่งรูปแบบกก.สมานฉันท์ ถึง ‘ชวน’ 2 พ.ย.

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงกรณีที่ประธานรัฐสภามอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า พิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์หาทางออกให้ประเทศว่า เป็นเรื่องที่จะต้องมีการหารือกัน ซึ่งเมื่อได้รับมอบหมายหลังจากนี้จะพิจารณาทำโครงสร้างเสนอกลับไปให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พิจารณาอีกครั้ง คาดว่าน่าจะเสนอได้ภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าโครงสร้างจะเป็นอย่างไร ต้องรอเสนอให้กับประธานรัฐสภาพิจารณาก่อน

นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นัดหารือภายใน เพื่อพิจารณาประเด็นที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบให้สถาบันพระปกเกล้าคิดรูปแบบคณะกรรมการสมานฉันท์ เบื้องต้น จะเตรียมความพร้อมและข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นด้วยว่าการตั้งกรรมการสมานฉันท์ รูปแบบไม่ควรซ้ำกรรมการชุดต่างๆที่ผ่านมา ที่มีหน้าที่ศึกษาเสนอแนะแนวทางออกไปยังรัฐบาล แต่ไม่เคยมีฝ่ายใดนำไปปฏิบัติ ดังนั้นแนวทางที่ทำได้คือ การทำหน้าที่คนกลาง สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้คู่ขัดแย้งหลักคือ รัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุมพูดคุยเพื่อตกลงหาทางออกร่วมกัน รูปแบบคล้ายกับการพูดคุยสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และเชิญแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) พูดคุย แต่รอบนั้นไม่ได้ข้อเสนอ เพราะเกิดการเผชิญหน้ากัน

นายสติธร กล่าวต่อว่า ส่วนที่พรรคเพื่อไทยปฏิเสธร่วมวงคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะมองว่าซื้อเวลาให้รัฐบาลนั้น เห็นว่าพรรคเพื่อไทยควรฟังและพิจารณารูปแบบการทำงานก่อนประกาศจุดยืน เพราะอาจตกขบวนได้ เนื่องจากพรรคฝ่ายค้าน อาทิ พรรคก้าวไกลสนับสนุนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย การที่พรรคเพื่อไทยมองว่า ซื้อเวลา เพราะที่ผ่านมากรรมการในลักษณะนี้ เมื่อตั้งขึ้นมาเพื่อระดมความเห็นแล้ว แต่คนที่เกี่ยวข้องไม่นำไปปฏิบัติ ดังนั้น สิ่งที่สถาบันพระปกเกล้าต้องพิจารณาคือ การออกแบบการทำงานเพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม ยอมรับว่าหนักใจที่สถาบันพระปกเกล้าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ เพราะประเด็นที่ต้องหาทางออกไปไกลกว่าการขัดแย้งหรือปัญหาทางการเมือง มีเรื่องของการปฏิรูปสถาบัน สิ่งที่เป็นไปได้คือ กรรมการที่เกิดขึ้นต้องร่วมกันออกแบบและคิดว่าจะนำปัญหาใดมาพูดคุยกันก่อน ส่วนเรื่องละเอียดอ่อนนั้นจะพิจารณาภายหลัง หากรัฐบาลและกลุ่มผู้ชุมนุม ยอมรับกลไกดังกล่าว เชื่อว่าจะทำให้การเกิดขึ้นของคณะกรรมการฯสำเร็จ และมองว่าควรใช้กลไกรัฐสภาดำเนินการ เพื่อใช้กติกาของรัฐสภา เช่นการประชุมลับ และรัฐสภาถือเป็นพื้นที่ตัวแทนของทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image