‘พรสันต์’ ชี้แก้ขัดแย้งกระบวนการต้องชัด แนะขุดคู่กรณีนับแต่ปี 49 ถกทางออกร่วมร่าง รธน.ใหม่

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

‘พรสันต์’ ยันแก้ปมขัดแย้ง ‘กระบวนการ’ ต้องชัด แนะขุดคู่กรณีนับแต่ ปี 49 ถกทางออกร่วมร่าง รธน.ใหม่

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้ความเห็นต่อ มติชนออนไลน์ ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านคณะกรรมการสมานฉันท์ ตามแนวทางของ สถาบันพระจอมเกล้า ว่า ในเรื่องการสร้างกระบวนการที่ดึงคู่ขัดแย้งทั้งหมดมาอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ด้วยวิธีการใดๆ นั้น ส่วนตัวยังมองไม่เห็น แต่เห็นว่าท่านประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย จะไปเชิญอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่เห็นภาพรวมว่า นอกจากอดีตนายกฯ แล้วจะมีใครอีก

“สิ่งหนึ่งที่แย้งท่านชวน มีนักข่าวถามว่าผู้ชุมนุมไม่สนด้วย กับคณะกรรมการสมานฉันท์ ท่านชวนพูดทำนองว่า ก็เรื่องของเขา เราไม่ได้สนใจ ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่สนใจไม่ได้ คุณต้องไม่ลืมว่าคณะกลุ่มบุคคลตรงนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าต่อไปจะเรียกว่าอะไร คือกระบวนการ หรือเวที ที่ต้องดึงคู่ขัดแย้งเข้ามาพูดคุยให้ครบ ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า เราตั้งคณะกรรมการแบบนี้มา 4-5 ครั้งแล้ว และล้มเหลวทั้งหมด คำถามคือ ทำไมถึงล้มเหลว อธิบายตามหลักการอย่างง่าย แสดงว่า คุณนำเอาคู่ขัดแย้งมาพูดคุยไม่ครบ”

“ด้วยสภาวการณ์แบบนี้กระบวนการคือตัวหลัก ถ้ากระบวนการครบ กระบวนการชัด จะนำไปสู่การกำหนดเนื้อหาเองว่า ควรจะแก้ไขปัญหาอะไร ย้อนกลับไปเราจะเห็นได้ว่า 4-5 ครั้งที่ตั้งขึ้นมา หรือแม้กระทั่งว่า ภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้ามาอยู่ในอำนาจตั้งไป 2 สมการปรองดอง ถามว่าทำไมทุกครั้งไม่จบ ตอบในเชิงหลักการ เพราะ 1.กระบวนการไม่ชัด ไม่ได้หยิบเอาคู่ขัดแย้งที่ขัดเจนมาพูดคุย การจะกำหนดปัญหาและแนวทางแก้ไขจึงไม่ครบถ้วน เมื่อไม่ครบถ้วนปัญหาก็คาราคาซังอยู่แบบเดิม วนลูปอยู่แบบเดิมเสมอ

สังเกตดูว่า ปัญหาแบบนี้เกิดมาตั้งแต่สมัยรัฐประหาร ปี  49 ซึ่งมีงานวิจัยบอกว่า ความขัดแย้งทางการเมืองของไทยเริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 49 และธรรมนูญ 50 ก็ไม่เคยแก้ได้ รัฐธรรมนูญ 60 ก็แก้ไขไม่ได้อีก สะท้อนให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 50 จนถึง 60 ไม่เคยเป็นเครื่องมือที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้เลย เพราะกระบวนการก่อนที่จะยกร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยมีความชัดเจน ครบถ้วน

Advertisement

ประกอบกับ 2.บรรยากาศไม่เคยเอื้อต่อการพูดคุย ย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญ 50 อยู่ในบรรยากาศแบบไหน ไม่ต่างกัน คุณทำรัฐประหารเข้ามา แล้วประกาศกฎอัยการศึก หลังจากนั้นก็ตั้ง ส.ส.ร.ที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก แล้วก็ทำธรรมนูญ 60 ทำประชามติ กลับมาวงจรเดิม ว่า ทำประชามติมาแล้ว ทำประชามติมาแล้ว” ผศ.ดร.พรสันต์กล่าว และว่ารัฐธรรมนูญ 60 ก็เช่นกัน อาจไม่ได้มีการประกาศกฎอัยการศึก แต่โดยสภาวะการเปลี่ยนผ่าน ระหว่างความเป็น คสช.ที่ยังคงอยู่ ไม่ได้สลายตัวไป ทำให้เห็นภาพว่า บรรยากาศในการพูดคุยไม่ได้เปิดเสรีตั้งแต่ตอนรัฐธรรมนูญ 50 จนถึงปัจจุบัน นี่คือสิ่งที่ชัดเจนและเราไม่เคยตระหนักว่า คือปัญหาที่แท้จริง

ผศ.ดร.พรสันต์ยังกล่าวถึง แนวทาง หลักความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ ที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานก่อตั้งสถาบันสร้างไทย เสนอ ด้วยว่า สิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์เสนอ บางเรื่องเป็นเรื่องกระบวนการ บางเรื่องเป็นเนื้อหา ต้องบอกว่า กระบวนการนำไปสู่การกำหนดคู่ขัดแย้ง และให้มาพูดคุยเจรจา ว่าสุดท้ายแล้วจะสามารถเห็นพ้องระดับหนึ่งได้ในประเด็นใดบ้าง ซึ่งสิ่งที่คุณหญิงสุดารัตน์เสนอในบางเรื่องนั้น ส่วนตัวมองว่า น่าจะเป็นผลมาจากการเจรจาก่อน ซึ่งเราไม่รู้ว่าสิ่งที่เสนอไปจะตรงจุด ตรงประเด็นกับสิ่งที่คู่กับแย้งจะทำการพูดคุยและเห็นพ้องกันหรือไม่

“เราพูดข้ามขั้นตอน อธิบายในทางกรอบนักวิชาการสายกฎหมาย รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาเราจะมองว่าเป็นกฎเกณฑ์ กติกาที่กำหนดอำนาจโครงสร้างขององค์กรรัฐสภา ค.ร.ม. และ ศาล คือแนวคิดทั่วไปว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ สร้างองค์กรเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการบริหารประเทศ นี่คือการมองแบบโมเดลเก่า โมเดลใหม่คือ รัฐธรรมนูญนอกจากจะฟังก์ชั่นเรื่องนี้แล้ว ยังมีลักษณะการทำหน้าที่ในแบบที่ 2 เมื่อเราอยู่ในสังคมที่มีความขัดแย้ง รัฐธรรมนูญจะทำหน้าที่ในการสลายความขัดแย้งของสังคมด้วย ซึ่งในเมืองไทยเราไม่ค่อยพูดถึงกรณีนี้”

Advertisement

ตอนนี้สังคมไทยขัดแย้งสูง ไม่ได้แบ่งแค่ซ้าย-ขวา แต่แบ่งเจนเนอเรชั่น บน-ล่างด้วย แตกแบบร้าวลึกมาก  แน่นอนว่า ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 50 และ 60 นำไปสู่วิกฤตในระบอบรัฐธรรมนูญ (confusional crisis) รัฐธรรมนูญ 50 นำไปสู่การรัฐประหาร 60 ซึ่งเคยทายว่าไว้จะอยู่ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งก็จะพังแล้ว ประเด็นคือ รัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง แต่กลับสร้างความขัดแย้ง จึงต้องมองประเด็นนี้ให้ชัด และทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นไม่ซ้ำรอยเดิม แทนที่รัฐธรรมนูญ 60 จะเป็นระเบิดเวลาที่นำไปสู่ทางตันทางการเมือง ควรจะทำฉบับใหม่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ ในแบบที่ 2 นี้ ได้ แบบที่สากลรู้จักกัน แต่เมืองไทยยังไม่รู้จัก เพื่อเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

ซึ่งการจะทำได้ เกิดจากการที่ 1.กระบวนการก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำให้ชัด ว่าจะสามารถลดความขัดแย้งได้ กล่าวคือ อาจจะต้องมีเงื่อนไขก่อนยกร่าง เราต้องตระหนักว่าสังคมไทยอยู่ในสถานการณ์พิเศษ  ดังนั้น การยกร่างรัฐธรรมนูญจะใช้ระบบเดิมๆ ไม่ได้ ต้องเอาคู่ขัดแย้งมาอยู่ในกระบวนการให้ครบ ไม่ว่ากระบวนการนี้จะมาอย่างไร อยู่ในรูปแบบ หรือโมเดลไหน อย่างน้อยๆ ต้องดึงเอาผู้ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ต้องมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 49 มองแค่เฉพาะหน้าไม่ได้ เพราะปัญหาความขัดแย้งสังคมไทยสั่งสมมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image