จาตุรนต์ เล่าประสบการณ์ ความไม่เป็นธรรม เจอกับตัวมากว่า 6 ปี สู้คดีถูกฟ้องหลังรัฐประหาร

จาตุรนต์ เล่าประสบการณ์ ความไม่เป็นธรรม เจอกับตัวมากว่า 6 ปี สู้คดีถูกฟ้องหลังรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ เล่าเรื่องราวการต่อสู้คดีที่ได้รับการแจ้งข้อหาตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ายึดอำนาจและออกคำสั่ง คสช.

เพิ่งไปขึ้นศาลมาครับคดีมาตรา 116 กับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

บางคนเห็นข่าวแล้วก็ถามว่าเป็นคดีใหม่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้หรือ ส่วนคนที่เคยได้ข่าวมาก่อนแล้วก็ถามว่าโอ้ ! ยังไม่จบอีกหรือ ตั้งนานมาแล้วนี่

Advertisement

ก็เลยจะขอถือโอกาสนี้เล่าให้ฟังสักหน่อยครับ

คดีนี้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภา 2557 เพียงไม่กี่วัน

มีการออกคำสั่งให้บุคคลไปรายงานตัวต่อ คสช. ผมไม่ไปรายงานตัว เมื่อซ่อนตัวอยู่หลายวันก็คิดว่าจะหลบอยู่ใต้ดินไปเรื่อยๆ คงจะไม่ได้ ไม่เป็นประโยชน์อะไร จึงตัดสินใจที่จะไปให้เขาจับและสู้คดีต่อไป

Advertisement

ผมเลือกที่จะไปให้ทหารจับที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศโดยนัดหมายไปแถลงข่าวที่นั่น สาระที่ไปแถลงข่าวก็คือการชี้แจงว่าผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร สาเหตุที่ผมไม่ไปรายงานตัว ผมยืนยันว่าจะต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย ขอให้พี่น้องประชาชนอดทนและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยโดยสันติวิธี

หลังจากแถลงข่าวจบ ผมมาตอบคำถามผู้สื่อข่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็มีทหารชุดหนึ่งเข้ามาเชิญตัวไปซึ่งผมก็ยินยอมไปด้วยโดยดีเพราะตั้งใจมาให้เขาจับอยู่แล้ว

ทหารชุดนี้นำตัวผมไปส่งที่ สน.ลุมพินี เพื่อจะให้ตำรวจตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งให้ไปรายงานตัว แต่ว่าหารือกันไปสักพักหนึ่ง นายทหารที่เป็นผู้ดูแลการดำเนินการกับผมก็มาบอกว่า วันนี้คงจะไม่มีการตั้งข้อหาที่ สน. ลุมพินีนี้แล้วเนื่องจากว่ากรณีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ของผมเกิดขึ้นก่อนที่จะที่ คสช. จะมีคำสั่งให้คดีเกี่ยวกับความมั่นคงไปขึ้นศาลทหาร จึงจะนำตัวผมไปที่อื่นก่อน ผู้บังคับบัญชาให้แนวทางมาว่าจะต้องคิดหาทางตั้งข้อหาอื่นเพื่อที่จะสามารถส่งตัวผมไปขึ้นศาลทหารให้ได้เสียก่อนค่อยเอาตัวผมไปส่งตำรวจในวันต่อๆ ไป

หลังจากนั้นผมถูกเอาตัวขึ้นรถทหาร คลุมหัวปิดตาเดินทางไปประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วเอาผมไปขังไว้ในบ้านหลังหนึ่งในค่ายทหาร วันรุ่งขึ้นทหารชุดนี้จึงได้นำตัวผมมาส่งที่กองปราบฯเพื่อให้ตั้งข้อหาตามมาตรา 116 แล้วนำตัวผมไปฝากขังที่ศาลทหาร ศาลทหารสั่งขังและไม่ให้ประกันตัว ผมจึงถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

คดีของผมเป็นคดีการเมืองที่ขึ้นศาลทหารเป็นคดีแรกหลังการรัฐประหาร

ในระหว่างที่ถูกขังอยู่มีการตั้งข้อหาเพิ่มเติมคือการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

ผมถูกดำเนินคดีในศาลทหารในทั้งสามข้อหาคือ 1.ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ให้บุคคลมารายงานตัว 2.ข้อหาตามมาตรา 116 และ 3.ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยเป็นการดำเนินคดีในศาลทหารชั้นเดียวไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา

ต่อมาผมได้ต่อสู้ว่าศาลทหารไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาคดี ผมโต้แย้งกันอยู่หลายเดือนจนในที่สุดมีข้อสรุปว่าศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. แต่มีอำนาจพิจารณาคดีในอีกสองข้อหาที่เหลือ

ผมสู้คดีในศาลทหารติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 6 ปี สืบพยานไปได้ 2-3 ปากเท่านั้น

เมื่อจะมีการเลือกตั้งจึงได้มีการโอนคดีในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม ผมจึงมาสู้คดีในศาลอาญา

ในสองวันที่ผ่านมามีการสืบพยานไปอีกหนึ่งปาก หลังจากนั้นก็มีการหารือกันเพื่อที่จะกำหนดนัดหมายพยานที่เหลือให้มาสืบพยานต่อไป ผลปรากฏว่ามีการลดพยานทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยลงให้เหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ คาดว่าการสืบพยานคงจะแล้วเสร็จได้ในเดือนนี้และศาลแจ้งว่าตั้งใจจะอ่านคำพิพากษาคำพิพากษาได้ในเดือนธันวาคมที่จะถึง

หลังจากที่ต้องอยู่กับคดีนี้มา 6 ปีกว่า ผมมีประสบการณ์อย่างไร เห็นปัญหาอะไรและอยากจะเสนออะไร เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับ

เล่าเรื่องคดีในศาลทหารต่อและคงต้องเล่าเรื่องข้างเคียงที่เลวร้ายไม่แพ้กัน ด้วยครับ

ผมเล่าตกไปนิดนึงว่าตอนอยู่ที่ สน.ลุมพินีนั้น นายทหารที่รับผิดชอบให้มาดำเนินการกับผมได้โทรศัพท์คุยกับนายของเขาหลายครั้ง แล้วมาบอกกับผมต่อหน้าตำรวจ ว่าจะต้องตั้งข้อหาเพิ่มเพื่อจะได้เอาผมไปขึ้นศาลทหาร เขาบอกด้วยว่า “ตั้งข้อหาแบบนี้ถึงยังไงท่านก็ชนะ แต่เราจำเป็นต้องตั้ง เพราะต้องการเอาท่านขึ้นศาลทหาร”

การดำเนินคดีในศาลทหาร เป็นไปอย่างล่าช้าและเรียกได้ว่าไร้สาระ นัดสืบพยานแต่ละครั้งห่างกันเป็นเดือนๆ หรือหลายเดือน มีหลายครั้งที่ถึงเวลาสืบพยาน พยานก็ไม่มา ย้ายหน่วยงานไปแล้วบ้าง ติดภารกิจบ้าง สืบตอนเช้าไม่เสร็จ จะนัดตอนบ่าย พยานก็ไม่ว่าง จะนัดอีกครั้งต้องรออีกสามเดือน เนื้อหาที่มาสืบพยาน ก็ไม่มีอะไรที่แสดงให้เห็นได้เลยว่าผมทำผิดกฎหมายตรงไหน

ในระหว่างนั้นผมต้องประชุมกับทีมทนายความอยู่เป็นประจำ รวมทั้งต้องติดต่อทาบทามพยานจำเลยเพื่อเตรียมมาให้ปากคำ ทนายบอกว่าดูจากสำนวนแล้วไม่มีทางผิดกฎหมายได้เลย แต่ก็ประมาทไม่ได้เพราะมีศาลเดียว อุทธรณ์ฎีกาอะไรไม่ได้และศาลทหารก็อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐมนตรีกลาโหมและนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคู่กรณีกับผมโดยตรง

การดำเนินคดีแบบนี้เป็นการสร้างภาระความเดือดร้อนให้แก่ผู้ถูกดำเนินคดี และยังเป็นการสร้างแรงกดดันบีบคั้น ไม่ให้แสดงความคิดเห็นหรือกระทำการหรือเคลื่อนไหวใดๆ ที่เป็นโทษต่อผู้มีอำนาจ

แต่ระหว่างนั้นผมก็ยังแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและการร่างรัฐธรรมนูญอยู่อย่างสม่ำเสมอ เมื่อใช้การดำเนินคดีปิดปากหรือหยุดผมไม่ได้ คสช.และรัฐบาลก็ใช้วิธีอื่นที่เลวร้ายไม่น้อยกว่าการดำเนินคดี เช่น 1.ระงับการดำเนินธุรกรรมทางการเงินของผมทั้งหมดรวมเป็นเวลากว่า 5 ปี 2.ไม่อนุญาตให้ผมเดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง ทำให้เสียโอกาสและค่าใช้จ่ายไปเปล่าๆ และ 3.ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีสั่งให้กระทรวงการต่างประเทศยกเลิกหนังสือเดินทางของผมทำให้ผมเดินทางไปต่างประเทศไม่ได้อยู่หลายปี ผลจากการที่ผมฟ้องต่อศาลปกครอง ต่อมาศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางและให้คืนหนังสือเดินทางให้ผม

กลับมาพูดถึงการดำเนินคดีในศาลทหารต่อนะครับ

คดีนี้ใช้เวลามาแล้วกว่า 6 ปี สืบพยานไปได้แค่ 2-3 ปาก เมื่อเริ่มสืบพยานในศาลอาญา พบว่าพยานมาให้การในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกล่าวหาผมแต่อย่างใดเลย ทำให้ต้องมาหารือกันใหม่ว่าจะลดพยานของแต่ละฝ่ายลงได้แค่ไหน

ผมพบความแปลกประหลาด ซึ่งความจริงก็รู้สึกอย่างนี้มานานมากแล้ว คือจากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนที่ปรากฏในสำนวนที่ผมอ่านทั้งหมดตั้งแต่ตอนที่คดีอยู่ที่ศาลทหารแล้ว พบว่ามีแต่ทหารที่ คสช.สั่งให้หาทางดำเนินคดีกับผมเท่านั้นที่ให้การไว้ว่าผมกระทำความผิด นอกนั้นแม้แต่ที่เป็นพยานโจทก์เองแท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ ประชาชนหรือผู้เชี่ยวชาญด้านคอมพิวเตอร์ ต่างก็ให้การไว้เหมือนๆ กัน คือ ไม่มีใครยืนยันว่าผมกระทำความผิด

การแจ้งข้อหาที่ร้ายแรงตามมาตรา 116 ไม่ตรงกับพฤติกรรมและข้อเท็จจริงแต่อย่างใด

ที่ว่าแปลกประหลาดก็คือ แล้วฟ้องผมมาได้อย่างไร

คำตอบก็คือ เพราะผู้ฟ้องคืออัยการทหารที่ฟ้องต่อศาลทหาร ทนายของผมถึงกับบอกว่าตั้งแต่เป็นทนายมาหลายสิบปี ไม่เคยว่าความคดีแบบนี้มาก่อน

ศาลอาญาสั่งให้ลดพยานของทั้งสองฝ่ายลงและตั้งเป้าไว้ว่าจะอ่านคำพิพากษาในเดือนธันวาคมนี้

นอกจากลดพยานลงเพื่อให้การพิจารณาคดีไม่เยิ่นเย้อเกินไปแล้ว เรื่องสำคัญที่ผมเสนอต่อผู้เกี่ยวข้องไปบ้างแล้วก็คือผมเห็นว่าเมื่อมีการโอนคดีจากศาลทหารมายังศาลอาญาแล้วเช่นนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรจะใช้ดุลพินิจตรวจสอบสำนวนและความเป็นมาของคดีเสียใหม่ ไม่ใช่พิจารณากันต่อไปโดยอัตโนมัติ เช่น อัยการปัจจุบันเป็นคนละสังกัดกับอัยการศาลทหาร จึงควรจะทบทวนเรื่องราวเสียใหม่ ถ้าหากเห็นว่าคดีไม่ควรฟ้องแต่ต้นหรือไม่มีพยานหลักฐานพอฟ้องก็ต้องหาทางให้ความเป็นธรรมแก่จำเลย ไม่ใช่สืบพยานต่อไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่รู้ว่าพยานก็ไม่ได้ให้การว่าจำเลยทำผิดอะไร

เรื่องที่ผมยกขึ้นมานี้ แม้แต่ทนายของผมเองก็ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ เพราะไม่อยู่ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามปรกติ แต่ผมก็ยืนยันว่าการเสนอให้ทุกฝ่ายต้องทบทวนเรื่องทั้งหมดกันใหม่เป็นเรื่องที่ทำได้ ผมไม่ได้อ้างกฎหมาย แต่กำลังอ้างหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม ซึ่งมีบัญญัติอยู่ในรัฐธรรมนูญ

ขณะนี้ทนายของผมกำลังพิจารณาที่จะร้องเรียนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผม ในขั้นตอนนี้ผมคงยังไม่ทำอะไรมากกว่านี้ แต่เมื่อใดที่คดีนี้สิ้นสุดลง ผมตั้งใจว่าจะเสนอต่อฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการให้ทบทวนเรื่องแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีที่โอนจากศาลทหารมายังศาลยุติธรรมเสียใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีอยู่อีกเป็นสิบๆ คดี

จากที่เจอกับตัวเองมาตลอดเวลา 6 ปีกว่า ทำให้ผมเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมทำให้เดือดร้อนเสียหายอย่างไร รัฐได้ใช้ข้อหาร้ายแรงอย่างมาตรา 116 เป็นเครื่องมือกำจัดและปิดปากผู้เห็นต่างตั้งแต่ยึดอำนาจปี 57 จนถึงปัจจุบันอย่างชัดเจน เมื่อเห็นการตั้งข้อหาดำเนินคดีกับนักศึกษาประชาชนเป็นร้อยๆ คดีอย่างที่ทำกันอยู่ จึงยิ่งเข้าใจถึงความอยุติธรรมที่ไม่เพียงแต่จะไม่สามารถหยุดยั้งการต่อสู้เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยหรือความเป็นธรรมได้แล้ว ยังจะยิ่งทำผู้คนหมดศรัทธาต่อระบบยุติธรรมของประเทศนี้ลงไปทุกทีด้วย

การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมกำลังตอกย้ำความไม่ชอบธรรมของผู้มีอำนาจและจะทำให้ประเทศนี้ถลำลึกสู่ความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image