ไทยพร้อมร่วมมือด้านสาธารณสุขกับสาธารณรัฐเกาหลี

ไทยพร้อมร่วมมือด้านสาธารณสุขกับสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้กองทุน MKCF

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 13 พ.ย.ที่ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนจาก เวียดนาม กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย และ นายมุน แช-อิน ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี เข้าร่วมด้วย

ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี กล่าวถึงการประชุมที่ปูซาน ซึ่งมีการสานต่อในเรื่องต่างๆ ให้มีความก้าวหน้า การรับรองปฏิญญญาแม่โขง-แม่น้ำฮันเป็นแนวทางการดำเนินการความร่วมมือในด้านต่างๆ รวมทั้ง ความร่วมมือด้านสาธารณสุข การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน ความเชื่อมโยง รวมทั้ง การรับมือกับโควิด-19 เกาหลีจะบริจาคเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาวัคซีน และส่งเสริมการเดินทางข้ามแดนอย่างปลอดภัย

นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่า การประชุมผู้นำครั้งแรกที่นครปูซานเมื่อปีที่แล้วทุกชาติร่วมกันยืนยันเจตนารมณ์ผ่านการรับรองปฏิญญาแม่น้ำฮัน-แม่น้ำโขง ที่ให้ความสำคัญกับความร่วมมือ ภายใต้ 3 เสา 7 สาขา ให้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี และการจัดตั้งสภาธุรกิจของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สาธารณรัฐเกาหลี ชื่นชมสาธารณรัฐเกาหลีที่ได้สนับสนุนกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ประกาศสนับสนุนในปีนี้ 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาในสาขาความร่วมมือเป้าหมายและจะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีและพร้อมสนับสนุนการยกระดับความร่วมมือสู่การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ผ่านนโยบายมุ่งใต้ใหม่พลัส (New Southern Policy Plus) และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนฯ ในการขับเคลื่อนความร่วมมือทั้ง 3 เสา และ 7 สาขา ที่ยั่งยืนร่วมกัน

Advertisement

“ความสำคัญ 2 เรื่องหลัก สำหรับกรอบความร่วมมือระหว่างและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 การสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยการแบ่งปันประสบการณ์ที่ดีและแนวปฏิบัติอันเป็นเลิศในการรับมือกับการระบาด ซึ่งไทยเพิ่งได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้กองทุน MKCF ครั้งที่ 4 การบังคับใช้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การสนับสนุนให้มีวัคซีนที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ในราคาสมเหตุสมผลสำหรับประชาชนในภูมิภาคอย่างเท่าเทียม และเป็นธรรม

การสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาค เพื่อกลับมาเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงักลง เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคขึ้นมาแทน เพื่อให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลังโควิด-19 มีความต่อเนื่อง ส่งเสริมกลุ่มเปราะบาง และผู้ประกอบการ MSMEs รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และผลักดันการเจรจาช่องทางพิเศษระหว่างกัน เพื่อขยายการลงทุนที่ต่อเนื่อง ไทยพร้อมจะเป็นฐานการผลิตและเป็นโซ่ข้อกลางเพื่อเชื่อมโยงอนุภูมิภาคกับห่วงโซ่อุปทานโลกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image