พท.ประณามรบ.ใช้ความรุนแรง โรม จวกตร.ปล่อยม็อบปะทะกัน

พท.ประณามรบ.ใช้ความรุนแรง โรม จวกตร.ปล่อยม็อบปะทะกัน

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ถึงสถานการณ์การชุมนุมวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการสลายการชุมนุมและทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนถึง 55 ราย ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลต้องรับผิดชอบกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นทุกกรณี ซึ่งการกระทำของตำรวจในการถอนกำลังออกและปล่อยให้มวลชน 2 กลุ่มปะทะกันจนเหตุการณ์บานปลาย ทำให้เกิดความสงสัยในความสองมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ที่จงใจเติมฟืนเข้ากองไฟ โดยเฉพาะการปล่อยให้ม็อบชนม็อบ มีการใช้กำลังและมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืนจริงด้วย ที่สำคัญมีเด็กและเยาวชนร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมด้วย เรื่องดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก จนทำให้องค์การระหว่างประเทศต้องออกมาเรียกร้องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยแก่เยาวชน

น.ส.อรุณีกล่าวอีกว่า รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองผู้ชุมนุม การตรวจค้นอาวุธผู้ชุมนุมทุกฝ่ายเป็นสิ่งที่รัฐต้องพึงกระทำเพื่อความปลอดภัยของทุกคน แต่รัฐบาลมีพฤติกรรม 2 มาตรฐานกับผู้ชุมนุมชัดเจน คนกลุ่มหนึ่งตำรวจไฟเขียวให้ผ่านด่านแนวกั้นเข้าไปหน้าสภาได้อย่างง่ายดาย แต่กับม็อบราษฎรตำรวจกลับใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะการใช้น้ำผสมสารเคมีหรือแก๊สน้ำตาฉีดใส่ ทั้งที่ม็อบราษฎรมาชุมนุมด้วยความสงบ ปราศจากอาวุธ เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ พรรค พท. หวังว่าการชุมนุมในวันนี้ตำรวจจะดูแลจัดการการชุมนุมด้วยใจอันเป็นธรรม เพราะผู้ที่มาชุมนุมล้วนอยู่ในวัยเดียวกันกับลูกหลานของพวกท่าน

“พรรค พท. และ ส.ส.ของพรรค ขอประณามการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะเรียกร้องให้มีการตรวจสอบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนมีผู้บาดเจ็บทั้งในคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องและตั้งกระทู้ถามในสภา จะไม่ยอมปล่อยให้เกิดวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพราะเป็นเรื่องของชีวิตผู้คน” น.ส.อรุณีกล่าว

นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า มีความพยายามเจรจาประสานกับตำรวจ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรง ถามว่าการที่กำหนดว่าห้ามเข้าใกล้เขตพื้นที่รัฐสภาเกิน 50 เมตรนั้น มีจุดประสงค์อะไร ถ้าต้องการให้ผู้ชุมนุมบุกเข้ามาในอาคารรัฐสภา ที่ผ่านมาไม่เคยมีประวัติการก่อความวุ่นวายหรือยึดสถานที่ราชการ ดังนั้น การที่จะปฏิบัติต้องสมเหตุสมผล แต่สิ่งที่เห็นจากการอยู่หลังแนวแบริเออร์มีการฉีดน้ำแรงดันสูงตลอดเวลา มีการใช้แก๊สน้ำตา พยายามพูดคุยกับตำรวจที่เขาเสนอมาว่ามาพักเบรกคุยกัน 30 นาทีก่อน และพยายามจะเดินเข้าไปคุยกับผู้ชุมนุม แต่ไม่สามารถพูดคุยได้ เพราะเจอละอองแก๊สน้ำตา ฉะนั้น สภาพแบบนี้มีแต่ทำให้มีความขัดแย้ง และความรู้สึกที่ไม่พอใจระหว่างผู้ชุมนุมที่มีต่อตำรวจและตำรวจที่มีต่อผู้ชุมนุมมากขึ้น จึงไม่แปลกที่เวลาผ่านไปเราจึงเห็นการทำลายทรัพย์สินราชการและความรุนแรงบางอย่างที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อใดที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงก่อนก็มีแต่ความรุนแรงที่ตอบกลับมา

Advertisement

เมื่อถามว่า รอง ผบช.น.ชี้แจงว่ากลุ่มผู้ชุมนุมพยายามตัดรั้วลวดหนามและทำลายแบริเออร์ นายรังสิมันต์กล่าวว่า เป็นธรรมชาติของการชุมนุมทางการเมืองที่มีการตั้งเป้าว่าจะมาที่อาคารรัฐสภา แต่เมื่อมีการขวางก็พยายามหาทางมาให้ได้ ไม่เช่นนั้นการชุมนุมใช้กดดันผู้มีอำนาจไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ชุมนุมต้องการคือเห็นรัฐสภารับร่างหลักการของประชาชน จึงมีการชุมนุมหน้ารัฐสภาเกิดขึ้น แต่เมื่อไปขวางไม่ให้แสดงออกสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความรุนแรง ทั้งนี้ การชุมนุมมีหลายกลุ่ม สิ่งที่เห็นคือการปฏิบัติหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐปกป้องอาคารรัฐสภามากกว่าปกป้องผู้ชุมนุมที่มาใช้สิทธิของตนเองในการแสดงออก ที่มาพูดเช่นนี้เพราะกรณีการปะทะกันระหว่างกลุ่มราษฎรกับกลุ่มเสื้อเหลือง คำถามคือตำรวจอยู่ที่ไหน ทำไมปล่อยให้มีการปะทะขึ้น เรามีตำรวจเป็นพันนายที่มารักษาความปลอดภัยอาคารรัฐสภา ทำไมไม่แบ่งตำรวจ 100-200 คน ไปช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมสองกลุ่มได้ ส่วนที่มีความรุนแรงช่วงกลางคืนที่มีตำรวจในเครื่องแบบและตำรวจสันติบาลที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถป้องกันให้เกิดความรุนแรง และที่มีการยิงกัน รวมถึงไม่สามารถระบุหรือจับกุมคนร้ายได้ เห็นความหย่อนยานการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของผู้ชุมนุมได้อย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image