ไม่มีส.ว.คนไหน กล้าปลดอาวุธ โหวตรับร่างแก้รธน. ฉบับยกเลิกนิรโทษกรรมคสช.

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 จาก 7 ร่าง คือ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งส.ส.ร.ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน กับ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่จำนวน 732 คน หรือ 366 เสียงขึ้นไป พร้อมทั้งยังมีคะแนนเสียงของส.ว.เกิน 1 ใน 3 หรือ 82 เสียงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส่วนอีก 5 ร่างที่เหลือ ไม่ว่า จะเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270-271 ตัดอำนาจส.ว.พิจารณากฎหมายปฏิรูปประเทศ ไม่ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ยกเลิกรับรองประกาศคำสั่งคสช. ไม่ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไขระบบเลือกตั้งส.ส.ให้ใช้ระบบบัตร 2 ใบ และ ไม่ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอ หรือ ร่างไอลอว์ ล้วนมีคะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา

จากบันทึกการลงคะแนนเสียง พบสมาชิกลงมติน่าสนใจ นอกจากมี 3ส.ว. ประกอบด้วย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายพีระศักดิ์ พอจิต และ นายพิศาล มาณวพัฒน์ ลงมติสวนทางกับสมาชิกส่วนใหญ่แล้ว ยังพบความน่าสนใจในการลงมติไม่รับหลักการในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 5 มาตรา 279 ยกเลิกรับรองบรรดาประกาศคำสั่งคสช. ที่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน กับ คณะส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ 209 ต่อ 51 งดออกเสียง 460 โดยในจำนวนเสียงที่เห็นชอบ พบว่า เสียงส.ว.เป็น 0 ไม่มีเสียงส.ว.เห็นชอบในวาระรับหลักการเพื่อยกเลิกมาตรา 279 เลยแม้แต่เสียงเดียว

สำหรับเหตุผลของ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านต่อการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกมาตรา 279 นั้น ได้ระบุตอนหนึ่งในร่างที่ได้ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาว่า การที่มาตรา 279 ได้รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายของบรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของคสช. หรือของหัวหน้าคสช. ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น ถือเป็นความรับรองความชอบโดยมิได้คำนึงถึงเนื้อหาของประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำดังกล่าวว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายแท้จริงหรือไม่ การคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ ย่อมทำให้เกิดผลว่า แม้ประกาศ คำสั่งและการกระทำของคสช.จะละเมิดเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญก็ยังถือว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงทำให้บทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนจะไร้สภาพบังคับ และกระทบต่อสถานะความเป็นกฏหมายสูงสุด

Advertisement

“แม้บทบทบัญญัตินี้ จะมีวัตถุประสงค์เพื่อนิรโทษกรรมให้แก่คสช. แต่เมื่อการกระทำต่างของคสช.ได้รับความรับรองความชอบตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และมาตรา 279 ได้รับรองให้อีกชั้นหนึ่ง เมื่อคสช.สิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้อีก เพราะหากคงไว้จะทำต่อการบังคับใช้บทบัญญัติอื่นๆของรัฐธรรมนูญ และยังดูเสมือนว่า รัฐธรรมนูญมิได้เป็นไปตามหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง”

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมาถึงวันลงมติไม่รับหลักการร่างดังกล่าว ได้ปรากฏความเห็นของ ส.ส.ซีกรัฐบาล และ ส.ว. ให้เหตุผลการคัดค้าน การแก้ไขมาตรา 279 ในรายงานพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ ของกมธ.ที่มี นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน อาทิ

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะที่ปรึกษากมธ. ให้ความเห็นว่า “ร่างที่เสนอนี้ เป็นข้อเสนอที่มีผลกระทบกับข้อกฎหมายที่เป็นประกาศคำสั่ง และการกระทำของคสช. หรือของหัวหน้าคสช. ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศคำสั่งที่ได้ล่วงพ้นมาแล้ว หากได้หยิบยกกระบวนการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รองรับไว้แล้วก็จะเกิดเป็นประเด็นปัญหาเกิดขึ้นว่า ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นข้อขัดแย้งต่างๆตามมา อันมีผลให้เกิดการกระทำอื่นๆที่อาจทำให้ประเทศชาติไม่สงบเรียบร้อยได้

Advertisement

เช่นเดียวกับ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานกมธ. คนที่ 5 ให้ความเห็นว่า “จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและทางกฎหมาย กล่าวคือในปัจจุบันยังมีประกาศคำสั่ง และการกระทำของคสช. หรือของหัวหน้าคสช.ที่ยังมีสภาพบังคับอยู่ การยกเลิกมาตรา 279 จึงจะส่งผลโดยตรงต่อสภาพบังคับของประกาศคำสั่ง และการกระทำดังกล่าว ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติว่าประกาศคำสั่ง และการกระทำดังกล่าวนั้น จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร และเกิดปัญหาในทางกฎหมายเพราะการจะสร้างกฎหมายขึ้นมารองรับบรรดาประกาศคำสั่ง และการกระทำนั้น ไม่สามารถทำได้โดยเร็ว การยกเลิกมาตรา 279 จะทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย และขาดความต่อเนื่องทางกฎหมาย จึงเห็นว่า ไม่ควรรับหลักการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและทางกฎหมาย”

อย่างไรก็ตาม การแก้ไข มาตรา 279 ถือเป็น 1 ประเด็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ หรือ ฉบับ “5 ยกเลิก 5 แก้ไข” ที่มีประชาชนเห็นด้วย และร่วมลงชื่อมากกว่า 1 แสนชื่อ เพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา โดยให้ยกเลิกมาตรา 279 ที่มีเนื้อหาในการนิรโทษกรรมคสช. ทำให้ไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังกับการทำรัฐประหาร และการละเมิดสิทธิของประชาชนใดๆได้ ซึ่งเป็นหลักประกันให้คสช.ว่า การกระทำทุกอย่างของคสช.จะไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ ทั้งยังรับรองให้ประกาศและคำสั่งของคสช.ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image