รัฐสภา ฉลุย รับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ “วิษณุ” ปัดรีบร้อน เสนอชิงตัดหน้าใคร

รัฐสภา ฉลุย ผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ “วิษณุ” ร่ายยาวปัดรีบร้อนเสนอร่าง ชิงตัดหน้าใคร เผยรัฐบาลยินดีหากชั้นกมธ.จะปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ขึ้น

วันนี้ (1 ธ.ค.) ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. วาระที่ 1 ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดยการอภิปรายในชวงบ่าย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ต้องขอบคุณ กกต. เพราะเขียนหลักการณ์ไว้ดีมาก ที่ให้มีกฎหมายว่าด้วยประชามติ แต่จั่วหัวอ้างพระราชบัญญัติบางประการที่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพตาม มาตรา 26 34 40 ตรงนี้คือการปล้นเอาสิทธิประชาชน โดยที่ยังไม่รู้เลยว่า เรื่องที่ฝ่ายบริหารจะไปปรึกษาประชาชนในการเขียนกฎหมายตีเช็คปล่าคืออะไร ยังไม่รู้ว่ามติครม.คืออะไร รัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขยังไม่รู้เลยว่าจะแก้ไขมาตราใด รวมทั้งร่างที่จะให้มีส.ส.ร.ด้วย แค่การจั่วหัวก็ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนแล้ว ฝากถึงกกต.และคณะกรรมาธิการชุดนี้ว่า เมื่อเรามาทำกฎหมายร่วมกัน การทำประชามติคือการทำประชาธิปไตยโดยตรง ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการรับข้อมูลรอบด้าน มีสิทธิเสรีภาพในการตัดสินใจ การแสวงหาข้อมูล และต้องมีสิทธิที่จะประกาศหรือชุมนุมว่าสิ่งที่จะเป็นกฎหมายในอนาคตนี้ หากเกิดขึ้นแล้วเผ่าพันธุ์บางเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์จะถูกละเมิดสิทธิอย่างไรบ้าง

“หมอชลน่าน” ชี้ หากรองนายกฯ รับปากจะสิ่งที่สมาชิกตั้งข้อสังเกตทักท้วงไปแก้ไขในชั้นกมธ. ก็ยินดีที่จะร่วมพิจารณากม.

ต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ประชาชน ต้องการมากที่สุด แต่อ่านหลักการ เหตุผล สาระสำคัญของร่าง และกระบวนการนำเสนอแล้ว ตนรับหลักการแห่งกฎหมายนี้ไม่ได้ เสียดายอยากได้แต่รับไม่ได้ คิดดูว่า ประชาชน จะข่มขื่นขนาดไหน เป็นเรื่องที่ทำให้ทุกฝ่ายทรมานมาก เหตุผลที่ตนบอกว่า รับไม่ได้ มี 2 เรื่องหลัก เรื่องแรก กระบวนการในการเสนอกฎหมาย ซึ่งมีสภาขิกรัฐสภาพูดไปหลายคน ตนขมวดประเด็นว่า คณะรัฐมนตรีอาศัยช่องของมาตรา 270 วรรคสองและสาม บอกว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ โดยอ้างมาตรา 258 ก. (1) ว่าเป็นการปฏิรูปด้านการเมือง จึงเสนอมาทางประธานรัฐสภา เพื่อบรรจุเข้าพิจารณา ความประสงค์ที่จะบรรจุในรัฐสภา

“ผมพยายามฟังรองนายกฯ ให้เหตุผลประกอบ มีเพียงแต่บอกว่า ต้องทำให้สอดรับกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากฟังว่า ต้องการที่จะเร่งรัดให้มีกฏหมายฉบับนี้ให้ทันรัฐธรรมนูญที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ อาจจะมีความชื่นใจบ้าง แต่ไม่ได้ฟังคำตอบและคำชี้แจงนี้เลย ซึ่งขณะนี้บ้านเมืองปกครอง 2ระบอบ คือระบอบรัฐสภากับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้เฉพาะการมีสภาเดี่ยว ท่านต้องการเอาเข้าสภาเดี่ยวเพื่อพิจารณาได้เร็วขึ้น และมั่นใจว่า สิ่งที่ทำเป็นไปตามสิ่งที่กำหนด กระบวนการเช่นนี้ ที่บอกกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายปฏิรูป หากไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 166 ประโยคสุดท้ายเขียนไว้ว่า การจัดทำประชามติ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ รัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ให้ความสำคัญถึงกับเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ฉบับนี้ไม่ได้ให้ความสนใจเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแต่เขียนไว้ว่าต้องมีกฎหมายบัญญัติมารองรับในกรณีที่จะต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปิดกั้นไม่ให้สมาชิกเสนอกฎหมายเข้ามาประกบกัน ทำให้หลายฉบับไม่ผ่าน”

Advertisement

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องที่สองที่ตนไม่รับหลักการ สิ่งที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้บอกว่าเป็นประชามติ อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ประกอบกับ 34 และมาตรา 40 ตนไม่แน่ใจว่า ที่เขียนบทจำกัดสิทธิเอาไว้เพื่อไปจำกัดสิทธิของประชาชนในการแสดงออกความคิดเห็น ในการออกเสียงโดยอิสระเสรี แต่มาตรา 40 ไปจำกัดสิทธิเพื่ออะไร ท่านไปจำกัดสิทธิในการแสดงออกที่เป็นสิทธิเสรีภาพ เรื่องนี้ฝากเลยหากเข้ากมธ. เชื่อว่าเสียงข้างมากรับ และหากเข้ากมธ.ต้องดูรายละเอียด การจำกัดสิทธิทำได้ หากเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมแต่นี่เป็นการจำกัดสิทธิในการออกเสียงประชามติที่โปร่งใส สุจริต เที่ยงธรรม ตนไม่แน่ใจว่าเหตุผลย้อนแย้งอย่างไร

“นอกจากจำกัดสิทธิของประชาชนแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังจำกัดการมีส่วนร่วม ท่านบอกกฎหมายนี้ปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่บทบัญญัติทั้งหมดกว่า 60 มาตรา โดยเฉพาะหมวด 2 เรื่องการแสดงความคิดเห็น การออกเสียง การรณรงค์ กลับให้เฉพาะภาครัฐทำ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำ หน่วยงานอื่นไม่เขียนให้ ประชาชนจะมาอออกเสียงได้ท่านไม่เขียน ในกฎหมายประชามติ 2552 มีบทบัญญัติหนึ่งเขียนไว้คล้ายกัน คล้ายกับมาตรา 16 ว่าด้วยการให้การแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางแต่สิ่งที่เห็นคือการตัดใจความสำคัญ ซึ่งประโยคสำคัญคือรวมทั้งจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เท่าเทียมกันทั้งคนที่เห็นและไม่เห็นด้วย ร่างของท่านไม่มี พูดง่ายๆ คือปิดกั้นไม่มีการรณรงค์“ นพ.ชลน่าน กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม รองนายกฯ รับปากว่าให้คำมั่นสัญญาว่าสิ่งที่สมาชิกตั้งข้อสังเกตทักท้วงว่ายินดีรับไปแก้ไขในชั้นกมธ. ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจำกัดสิทธิ บทกำหนดโทษ พวกตนก็ยินดีที่จะร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้แม้จะถูกรวบเป็นสภาเดี่ยว

ด้าน นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้มีความจำเป็นแต่เมื่ออ่านร่างที่เสนอมามีความวิตกกังวลว่ากฎหมายนี้อาจไม่ใช่กฎหมายประชามติที่สร้างการรับรู้ของประชาชน หรือแรงบันดาลใจให้คนรับรู้และออกมาแสดงสิทธิของตัวเองว่าจะลงมติไปทางใด เพราะกฎหมายฉบับนี้ออกแบบในรูปแบบที่ควบคุมไม่ใช่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกเสียงประชามติ สิ่งสำคัญการลงประชามติต้องทำให้ประชาชนได้รับรู้ว่าประเด็นแต่ละประเด็น รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แต่ละมาตรา มีความหมายอย่างไร ถ้าเข้าใจถ่องแท้ก็จะเกิดความเข้าใจและลงมติได้ไม่คลาดเคลื่อน แต่ร่างประชามติฉบับนี้ไม่ให้โอกาสประชาชนและพรรคการเมืองได้รณรงค์ กลับให้กกต.กำหนด ทราบกันดีว่ากกต.เป็นองค์กรที่สืบเนื่องมากจากรัฐประหาร ดังนั้น จะหาความเป็นกลางจากกกต.ได้อย่างไร

Advertisement

นายธีรัจชัย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ทำในระดับชาติเพียงอย่างเดียวคือระดับนโยบายรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ แต่ระดับพื้นที่ไม่มี ไม่สามารถใช้ได้ทั่้วไป และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอทำประชามติแต่ละเรื่องได้ เป็นการออกแบบที่สนองต่ออำนาจของรัฐบาลเท่านั้น ไม่อายที่จะออกกฎหมายแบบนี้มาเหรอ ไม่เอาเปรียบมากเกินไปเหรอ ดังนั้น ควรปรับตัวร่าง อย่าปิดกั้นอย่าใช้วิธีการแยบยลแบบนี้ ควรช่วยกันเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้

ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า สิ่งที่ตนอยากเสนอคือเมื่อเรามีกฎหมายออกเสียงประชามติหวังว่ากฎหมายฉบับนี้เมื่อดำเนินการมีประชามติแล้วจะต้องเกิดการยอมรับในผลของประชามติ แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับผลจะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศของสังคมไทย เนื่องจากการทำประชามติไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศ โดยกฎหมายประชามติฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการออกเสียงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น จึงมีความสำคัญเราควรหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหลังการออกเสียงประชามติและจะต้องทำให้เกิดการยอมรับ

นายองอาจ กล่าวว่า แนวทางการออกกฎหมายต้องยึดหลักทำกฎหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกกต.ต้องทำให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาไม่ชี้นำ และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รณรณรงค์การออกเสียงอย่างเสรีสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากที่สุด และสิ่งสำคัญการออกเสียงต้องดำเนินการชอบด้วยกฎหมาย ชอบธรรม สุจริตและเที่ยงธรรม

ต่อมา เวลา 17.00 น. หลังจากสมาชิกได้อภิปรายเสร็จสิ้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วบการออกเสียงมติ พ.ศ. … ไม่ได้รีบร้อนอย่างที่สมาชิกหลายท่านอภิปราย เรื่องนี้ต้องให้เครดิตกกต. เพราะกกต.เสนอร่างพ.ร.บ.นี้มาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนมีการเลือกตั้งส.ส.ปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากเป็นปลายสมัยของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รัฐบาลขณะนั้นเห็นว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้มีการออกเสียงประชามติคงยังไม่เกิดขึ้น หากรอไว้ก่อนก็จะทำให้ส.ส.ที่เข้ามาใหม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็น และปรับปรุงให้ร่างนั้นสมบูรณ์ขึ้น รัฐบาลจึงตัดสินใจไม่นำเสนอร่างนั้นต่อสนช. แต่เก็บไว้จนการเลือกตั้งแล้วเสร็จก่อนส่งคืนไปยังกกต. ให้พิจารณาปรับรปรุงกลับมาใหม่ จังหวะเดียวกันมีการออกพ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดร่างกฎหมายและการรับฟังความคิดเห็น โดยได้กำหนดว่าการรับฟังความเห็นตามาตรา 77 จะต้องทำอย่างไร

นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.จึงใช้โอกาสนั้นดำเนินการให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ดังกล่าว และส่งกลับมารัฐบาลช่วงกลางปีนี้ ทำให้รัฐบาลได้รับฟังความเห็นของหน่วยงานต่างๆ กระทั่งครม.มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่ผ่านมา ให้เสนอมายังรัฐสภาได้ จึงยืนยันว่า ไม่ได้มีความรีบร้อนเร่งด่วนหรือชิงตัดหน้าใครทั้งนั้น การพิจารณาได้เร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และนำไปสู่การรับฟังความเห็นเพื่อออกเสียงประชามติ จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับ รัฐบาลจึงเร่งรัดให้กฤษฎีกาตรวจจนแล้วเสร็จ เพราะหากไม่มีกฎหมายรองรับจะต้องหยุดทิ้งไว้นาเกินควร หากเป็นเช่นนั้นจะต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ก็จะไม่สวยงามถูกครหา ดังนั้น การเสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … จึงน่าจะเหมาะสมด้วยกาลเทศะทุกประการ

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนเนื้อหาสาระหากไม่เป็นที่พอใจของสมาชิก ก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่จะปรับปรุงแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ตนรับปากว่าสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ รัฐบาลไม่ขัดข้องหมองใจหากสมาชิกรัฐสภาจะแก้ไขส่วนใด หลายท่านฝันอยากเห็นแบบไหนก็แก้ไขในชั้นกมธ. ท่านสามารถรื้อได้ทั้งฉบับตามที่ท่านเห็นสมควร หากจะแปรญัตติอย่างไรรัฐบาลก็ยินดี นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับนี้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้วหลายครั้ง อาจจะมากกว่าร่างพ.ร.บ.อื่นๆด้วยซ้ำ ส่วนที่ประชาชนไม่ค่อยแสดงความเห็นกลับมา ก็เป็นธรรมดาเพราะประชาชนอาจจะรู้สึกว่ากฎหมายบางอย่างยากต่อความเข้าใจ หรือคิดว่าไม่เกี่ยวอะไรกับตนจึงไม่ได้แสดงความคิดเห็นมา ส่วนที่สมาชิกเห็นว่า น่าจะมีการออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์หรือออนไลน์ได้นั้น ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่มีเพราะยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นที่ยอมรับของประชาชนหรือไม่ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่หากชั้นกมธ.คิดว่าทำได้ก็ลองเสนอปรับปรุงเข้ามา หรือเสนอไปยังกกต.ก็ได้ จึงขอให้สมาชิกรับร่างนี้ไว้เพื่อให้การดำเนินการอื่นๆที่จะตามมาดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

จากนั้น ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ด้วยคะแนน 561 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 50 โดยตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว 49 คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image