กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ จ่อเชิญม็อบ-องค์กรนศ. ร่วมออกแบบ ที่มาส.ส.ร.กลุ่มเยาวชน

“นิกร”ย้ำ กฎหมายแม่ ต้องแก้ไม่ง่ายเกินไป แจงใช้เสียง3ใน5 โหวตรัฐธรรมนูญเหมาะสม

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. ….) พ.ศ….. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ) รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ว่า กมธ. เข้าสู่การพิจารณาเนื้อหาเป็นรายมาตราแล้ว คือ มาตรา 3 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อปลดล็อคการใช้เสียงเห็นชอบจากเดิมที่ให้มีส.ว.ร่วมลงมติ 1 ใน 3 สำหรับวาระแรก และให้ใช้เสียงของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 20 ร่วมลงมติเห็นชอบในวาระสาม ทั้งนี้ยอมรับว่าการแก้ไขจำนวนเสียงนั้น มีความเห็นต่าง ระหว่างจำนวน 3 ใน 5 หรือตามร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาล และ มากกว่ากึ่งหนึ่ง ตามร่างแก้ไขของพรรคฝ่ายค้าน ทั้งนี้มีส.ว.เสนอให้ใช้เสียง 2 ใน 3 ทำให้กมธ.ฯ รอการสรุปไว้ก่อน เพื่อพิจารณารายละเอียดให้รอบด้านอีกครั้ง

“ส่วนตัวผมเห็นว่า การลงมติเพื่อแก้ไขกฎหมายสำคัญ หรือ กฎหมายแม่ ไม่ควรแก้ง่ายจนเกินไป เพราะอนาคตส.ส.ร่วมรัฐบาลอาจใช้สิทธิเสนอแก้ไขมาตราและรายละเอียดใดก็ได้ เพียงแค่รวมกับเสียงส.ว.ไม่กี่คน ขณะที่การใช้เสียง 2 ใน 3 หรือ 500 คนจากเสียงสมาชิก 750 คนนั้น อาจเป็นปัญหาเพราะต้องใช้เสียงส.ส.ทั้งหมดของสภาฯ และกรณีที่มีส.ส.ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ต้องออกเสียงอาจทำให้เป็นปัญหา ส่วนตัวเห็นว่า เสียง 3 ใน 5 นั้นเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมต้องหารือให้รอบด้าน ก่อนจะกลับมาตัดสินใจอีกครั้ง ทั้งนี้ยืนยันว่าการลงมติจะไม่ใช้เสียงกมธ.ข้างมากลากไปแน่นอน” นายนิกร กล่าว

นายนิกร กล่าวว่า ในประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไป คือที่มาของส.ส.ร.ที่พบว่า มีรายละเอียดแตกต่างกันระหว่างร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ดี ในเนื้อหาของพรรคร่วมรัฐบาลที่เสนอให้ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้ง 150 คน และคัดสรร 50 คนนั้น เบื้องต้น ตนในฐานะผู้ทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ขัดข้องต่อการแก้ไขที่มาของส.ส.ร.ที่มาจากการคัดสรร ส่วนของเยาวชน จำนวน 10 คน ซึ่งร่างเดิมกำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่เมื่อพิจารณาให้รอบคอบแล้ว เห็นว่าควรให้ตัวแทนเยาวชนเป็นผู้เสนอ ดังนั้น ในกมธ.เตรียมเชิญตัวแทนเยาวชน เช่น สภาเยาวชน, องค์การนิสิตนักศึกษา หรือ ตัวแทนม็อบ ให้ความเห็น และร่วมออกแบบที่มา นอกจากนั้นแล้วในการกำหนดคุณสมบัติของ ส.ส.ร. นั้นได้เปิดกว้างให้เยาวชนที่อายุ 18 ปี ขึ้นไปลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.ร.ด้วย.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image