ก้าวไกล รับ เสียงฝ่ายค้านไม่พอ งัดข้อรบ. ชงล็อกเสียงโหวต 2ใน 3รับร่างแก้รธน.

‘ฝ่ายค้าน’ ยอมรับ กำลังไม่พองัดฝ่ายรัฐบาล รอวัดใจส.ว. ยืนข้างปชช. หรืออำนาจเผด็จการ หลังชงล็อกโหวต ใช้เสียงรับร่าง 2 ใน 3

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณา (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) คนที่หก ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกระแสว่าส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และส.ว. จะล็อกโหวตให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากขึ้น ว่า เป็นความคาดหมายที่ฝ่ายรัฐบาลต้องการล็อกให้แก้ไขยากตามร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ที่ต้องการกำหนดการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากส.ส.จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของส.ส. หรือจากส.ส. และส.ว.จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภาคือต้องมีจำนวน 100 เสียงขึ้นไป นอกจากนี้ยังต้องการกำหนดจำนวนเสียงในวาระรับหลักการ  3 ใน 5

ล่าสุด ก็เสนอเป็น 2 ใน 3 ซึ่งจะทำให้การใช้เสียงในวาระรับหลักการทำได้ยากกว่าเดิม และในวาระลงมติ วาระที่ 3 เสนอให้ใช้เสียง 3 ใน 5 ทำให้เป็นการจำกัดให้มีเพียงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) เท่านั้นที่มีสิทธิ์ยื่นขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากกมธ. 45 คน แบ่งเป็นส.ว. 15 คน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 17 คน และส.ส.ฝ่ายค้าน 13 คน ที่สำคัญคือในจำนวนส.ว. 15 คน มี 10 คน ที่ลงมติไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 256 คือเป็นคนที่ไม่อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรก และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจรัฐสภา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่สามารถทำได้หรือไม่ สะท้อนว่า ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง ส.ว. ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผลพวงของการรัฐประหาร เป็นขบวนการของคสช.ที่ไม่ยอมปล่อยอำนาจ

เมื่อถามว่า มีข้อกังวลอะไรบ้างในช่วงการโหวตแปรญัตติ เพราะเสียงของฝ่ายค้านมีน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาลมาก นายธีรัจชัย กล่าวว่า มีข้อกังวล 3 จุด คือ 1.ฝ่ายรัฐบาลต้องการกำหนดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญยาก เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่จะแก้ไขนี้จะอยู่ไม่นาน คือประมาณ 1 ปี หากตั้งส.ส.ร. ก็จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะมีกลไกอีกแบบหนึ่ง หากกำหนดการแก้ไขยากก็จะเป็นเครื่องมือการต่อรองของฝ่ายรัฐบาล 2.ที่มาของส.ส.ร. หากใช้รูปแบบที่มาแบบรัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และ 50 คน มาจากการคัดเลือก ซึ่งอาจจะเกี่ยวโยงกับรัฐบาล และ3.การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อไม่ให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“ฝ่ายค้านก็จะสู้เต็มที่เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ความสำคัญคือ ความชอบธรรมที่เรามีอยู่ตามประชาธิปไตย ในการต่อสู้ด้วยเหตุผล และชี้ให้เห็นจุดยืนว่า ถึงแม้ส.ว.จะมาจากการแต่งตั้งของคสช. แต่ในรัฐธรรมนูญระบุว่า เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย ถ้าส.ว. ไปสนองตอบอำนาจรัฐประหาร ก็คงเป็นผู้แทนแค่ในนาม แต่หากมาอิงข้างประชาชน ตอนนั้นก็จะเป็นผู้แทนของประชาชนได้ เราจะต้องกระตุ้นจิตสำนึกให้ส.ว.มายืนข้างประชาชนให้ได้ ถ้าไม่ได้ เราก็ต้องวัดใจกันว่า อีกฝ่ายจะเลือกยืนข้างไหน ต้องการเปลี่ยนผ่านประเทศ หรือต้องการแช่แข็งประเทศอยู่ในอำนาจเผด็จการแบบนี้” นายธีรัจชัย กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image