วงเสวนาถกนิยาม คนเท่ากัน ‘ไผ่ ดาวดิน’ ชี้อุดมคติสร้างความเหลื่อมล้ำให้ราษฎร

วงเสวนาถกนิยาม คนเท่ากัน ‘ไผ่ ดาวดิน’ ชี้อุดมคติสร้างความเหลื่อมล้ำให้ราษฎร

วงเสวนาถกนิยาม ‘คนเท่ากัน’ ไผ่ ดาวดิน ยกวลี ‘เตียง ศิริขันธ์’ – ชี้ ‘อุดมคติ’ คือต้นตอ สร้างความเหลื่อมล้ำ ให้ ‘ราษฎร’

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 ธันวาคม ที่ตึก 19 อาคารเรียนรวม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ในโอกาสวันสถาปนาสิงห์ภูพาน’รัฐศาสตร์ราษฎร’ ประจำปี 2563 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร จัดกิจกรรม “ม่วนเมี้ยนเผด็จการ” โดยช่วงหนึ่ง มีการเสนาในหัวข้อ “คนเท่าเทียมกัน อะไรเป็นอุปสรรค”

นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่า นิยามคนเท่าเทียม สำหรับตน บรรพบุรุษนักสู้แห่งที่ราบสูง อย่าง ครูเตียง ศิริขันธ์ เป็นตัวอย่างของการต่อสู้ให้หลายคน เอาเป็นตัวอย่างในการต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม โดยจะชวนวิเคราะห์ คำกล่าวของครูเตียง ที่ว่า “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุก ๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความเป็นราษฎรจึงเป็นอุดมคติที่ข้าพเจ้าบูชา”

ท่อนแรก “ข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้น” หมายความว่า ทุกคนเกิด และเดินบนพื้นดิน, “อันเป็นสยามประเทศนี้เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด” หมายความว่า ความเป็นคนต้องเท่ากัน, “ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง” คือความเหลื่อมล้ำที่มีคนรวยเกินไป และมีคนที่จนเกินไป ซึ่งในสังคมมีที่มีคนจนและรวยเป็นเรื่องปกติ แต่ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงเป็นเรื่องผิดปกติ ที่กล่าวมาทั้งหมด นี่จึงเป็นอุดมคติ หมายความว่า ความเท่าเทียมเป็นอุดมคติ ที่เชื่อว่า ไม่ว่ามนุษย์จะเกิดมาสมประกอบ หรือไม่ เกิดมารวย หรือจน ความเท่าเทียมของคนคืออุดมคติ ดังนั้น คนจะเท่ากันได้ เราต้องมีอุดมคติที่มองคนเท่ากัน ถ้ายึดนิยามนี้ เราจะมองคนเป็นคน เราจะมองคนเก็บขยะเป็นคน ไม่ดูถูกเขา เราจะไม่ให้คุณค่ากับยศถา บรรดาศักดิ์ต่างๆ เพราะสุดท้ายแล้ว คนเหล่านั้นก็ยืนบนแผ่นดินเหมือนกัน เจ็บ ตาย เหมือนกัน

Advertisement

“แต่ทำไมบางกลุ่มมีสวัสดิการที่ดี ขณะที่คนบางคน ไม่มีโอกาส ก็จะมีบางคนมองว่า คุณเกิดมามีบาป ไม่ทำบุญ ถึงเกิดมาจน คุณจนเพราะไม่ขยัน คนที่ประสบความสำเร็จมักอ้างอย่างนี้ เพราะโครงสร้าง โอกาส และอุดมคติทางสังคม ไม่ได้เอื้อให้คนส่วนใหญ่ เพราะความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยสูงมาก การที่ทำให้คนไม่เท่ากัน ก็เกิดจากอุดมคติที่มองแบบนี้ ที่มองว่า คุณโง่ จน เจ็บ คนอีสานถูกปลูกฝังวาทกรรมนี้มายาวนานมาก คำถามคือ ชาวนา ทำนาแทบตาย จะมีโอกาสลืมตาอ้าปากได้อย่างนายทุนหรือไม่ ไม่มีทางในโครงสร้างเศรษฐกิจแบบนี้ อุดมคติเหล่านี้คือสิ่งทำลายความเป็นคน โลกนี้มีอุดมคติหลายอย่าง ถ้าเราไม่มีอุดมคติ เราจะไม่สามารถตอบคำถามได้เลยว่า เรามีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร อุดมคติ คือกรอบในการมองคน มองโลก อุดมคติ ที่สร้างความไม่เสนอหน้าของราษฎร จะสร้างความเหลื่อมล้ำ ต่ำสูง” นายจตุภัทร์กล่าว

ด้าน นายปกรณ์ อารีกุล หรือ แมน นักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง ผู้ช่วย ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวถึงนิยามคนเทียมกัน ว่า สำหรับตน เวลาพูดถึงคนเท่ากัน มี 2 คำเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ 1.เท่าเทียม และ 2.เสมอภาค ซึ่งจะมีบางคนบอกว่า ความเท่าเทียม ไม่เท่ากับ ความเสมอภาค และมองว่า ความเท่าเทียมไม่มีจริง แต่ส่วนตัวมองว่า ถ้าคนจะเท่ากันได้จริง ต้องมีทั้งเท่าเทียม และ เสมอภาค

“คนกลุ่มหนึ่งจะบอกว่า ไม่มีทางที่คนจะเท่ากัน ทุกคนเกิดมามีความแตกต่าง บางคนอาจจะเกิดในรั้วใหญ่ๆ บางคนเกิดมาบนเถียงนา แต่สิ่งที่ทำให้สองคนนี้เท่ากัน คือ ความเป็นคน แม้ฐานะพ่อแม่ไม่เท่ากัน แต่เมื่อเกิดมาแล้วเรามีสิทธิที่จะเติบโต หายใจ ได้รับการศึกษา แม้เกิดมาไม่เท่าในชาติกำเนิด สิ่งนั้นคือ สิทธิมนุษยชน ที่สหประชาชาติรับรอง ไม่ว่า สิทธิในการมีชีวิตอยู่ สิทธิที่จะได้รับการศึกษา และมีเสรีภาพนั้น ทุกคนจะต้องมีเท่ากัน ปัญหาที่เกิดคือ บางคนมีสิทธิมากกว่าคนอื่นโดยชาติกำเนิด บางคนมีอำนาจที่จะทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น สำหรับผมนี่คือความไม่เท่าเทียมกัน ถ้าคุณเกิดกรุงเทพฯ คุณมีสิทธิได้ใช้รถไฟฟ้า ถ้าเกิดสกลนคร บางอำเภอไม่มีรถโดยสาร ซึ่งมักจะมีคนบอกว่า เป็นธรรมมชาติ โลกใบนี้พระเจ้าสร้างขึ้นมา ต้องยอมรับว่าคนไม่เท่ากัน แต่ความจริงคือกฎเกณฑ์ ระบอบการปกครอง เป็นสิ่งที่กำหนดให้เราไม่เท่ากัน คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่พระเจ้ากำหนด ในคอนเซ็ปต์เรื่องคนเท่ากัน จำเป็นจะต้องเข้าใจในเชิงหลักการ ว่าไม่จำเป็นต้องเกิดมาเหมือน แต่สิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ที่จะเติบโตโดยไม่ต้องดูนามสกุล ยศ คำนำหน้า ต้องเท่ากันในการใช้ชีวิตประจำวัน ใช่ว่าจะมีอำนาจ สั่งให้คนทำอะไรก็ได้โดยไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

Advertisement

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า จะมีรูปหนึ่ง เป็นคนตัวเตี้ย และคนตัวสูง ที่อยู่ข้างกำแพง ถ้าจะมองสิ่งที่อยู่ข้ามกำแพง โดยเอาลังไปวาง ที่คาดว่าเขาจะเห็นเท่ากันถ้าให้กล่องขนาดเท่ากัน คนตัวสูงอาจมองเห็น แต่คนตัวเตี้ยก็อาจจะยังมองไม่พ้นกำแพง ซึ่งความเสมอภาคไม่เกิด ที่ต้องอธิบายต่อไปคือ บางครั้งเราต้องให้บางคนมากกว่าคนอื่น เพื่อให้ความเสมอภาคเกิดขึ้น ความเป็นธรรมจะเกิด ด้วยรัฐสวัสดิการ ให้คนที่มีน้อยกว่าเราได้มีสิทธิ มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ให้ได้มองสิ่งหลังกำแพงได้เท่ากัน
คนจะเท่ากันไม่ได้ ถ้าเราไม่ยอมรับก่อนว่า แม้จะเกิดมาต่างกัน แต่ 1.เท่าเทียมในความเป็นมนุษย์ 2.มีสิทธิเสมอภาคได้โดยรัฐต้องสนับสนุนบางสิ่งให้กับเรา” นายปกรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image