ศบค.ชุดเล็ก รอประเมินสถานการณ์ ‘สมุทรสาคร’ ก่อน ถึงพิจารณาคลายล็อกได้ เล็งปูพรมตรวจ

ศบค.ชุดเล็ก เผยเล็งตรวจปูพรม สมุทรสาคร-กทม. รอประเมินสถานการณ์สัปดาห์หน้า ด้านนายกฯ มอบแนวทางยึดหลัก สธ. ชี้กินอาหารในที่ทำงานร่วมกันหลายคนคือ จุดเสี่ยง

เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 23 มกราคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค. วงเล็ก ที่มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค. เป็นประธานการประชุมว่า ในวันนี้ได้หารือกันในเรื่องหลักการ ซึ่ง พล.อ.ณัฐพลก็ได้เห็นด้วยในหลักการ อย่างไรก็ตามต้องดูข้อมูลรายละเอียดในสัปดาห์หน้า เพื่อดูว่าข้อมูลมีความสอดคล้องกับแนวโน้มที่เราคิดไว้หรือไม่ ถ้าสอดคล้องกัน ก็แสดงว่าสถานการณ์ดีขึ้น แต่เหลือจุดที่เราต้องให้ความสำคัญคือ ที่จ.สมุทรสาคร และที่ประชุมก็เน้นหนักไปที่ จ.สมุทรสาคร ส่วนมาตรการที่เราจะผ่อนคลายต่างๆ ก็ต้องดูสถานการณ์สัปดาห์หน้าเช่นกัน

เมื่อถามว่า มีแน้มโน้มว่าจะเปิดตลาดกลางกุ้งที่ จ.สมุทรสาคร หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า แนวทางที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบมาคือ พยายามยึดหลักของการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลัก และที่ประชุมก็เห็นพ้องต้องกันว่า น่าจะมีการเพิ่มมาตรการต่างๆ เข้าไป เพื่อให้สถานการณ์ที่ดีขึ้นอยู่แล้ว ดีขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น รวมทั้งหลังจากนี้ก็จะมีการกำหนดมาตรการเพิ่มเติม

เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะคลายล็อก จ.สมุทรสาคร ด้วยใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนนี้ก็ต้องดูข้อมูลของสัปดาห์หน้าอีกครั้ง ที่จะมีมาตรการตรวจปูพรมเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้ทางเอกชน และโรงงานต่างๆ มาร่วมด้วยช่วยกันมากขึ้น

เมื่อถามว่า สถานการณ์ในพื้นที่ กทม. ยังมีความกังวลอยู่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า จากข้อมูลที่นำมาเสนอในที่ประชุมวันนี้ พบว่าสถานการณ์ใน กทม. ยังค่อนข้างคงตัว อยู่ในระดับที่เราค่อนข้างพอใจ อย่างไรก็ตามพื้นที่ กทม. ที่เป็นพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ ก็จะมีการตรวจพื้นที่เชิงรุกมากขึ้นเช่นเดียวกัน สิ่งที่สำคัญไม่ใช่เรื่องการตรวจอย่างเดียว แต่ต้องมีความร่วมมือของประชาชนด้วย เช่น เรื่องการเว้นระยะห่างก็ต้องมีเพิ่มเติม โดยจุดที่เราเห็นเป็นปัญหาของ กทม. คือ เมื่อมีคนติดเชื้อ 1 คน คนในครอบครัวจะเป็นกลุ่มเสี่ยง และเพื่อนร่วมงานในที่ทำงาน ซึ่งปัจจัยเสี่ยงในที่ทำงานคือ การนั่งรับประทานอาหารร่วมกัน ดังนั้น แต่ละองค์กรจะต้องจัดพื้นที่ให้กับเจ้าหน้าที่ และพยายามหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันหลายคน เพราะเป็นจุดเสี่ยงที่เราเห็นได้ค่อนข้างชัด

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image