‘องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น-สตง.’ ลงนามป้องทุจริตโครงการก่อสร้างที่ทำการใหม่ 2,560 ล้าน พร้อมร่วมข้อตกลงคุณธรรม

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมนายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) และนายวิชัย อัศรัสกร รองประธาน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต โครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้าง จากนั้นมีพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ระหว่าง สตง.(หน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการ) กับกิจการร่วมค้าไอทีดี-ซีอาร์อีซี (ผู้ประกอบการ) โดยมี รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ร่วมสังเกตการณ์

นายวิเชียรกล่าวว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และ สตง.เป็นหน่วยงานหลักที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนเรื่องการต่อต้านการทุจริต โดยตระหนักถึงการป้องกันและปรามปรามการทุจริต และเสริมสร้างความร่วมมือภายในองค์กรต่างๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และเนื่องจาก สตง.เล็งเห็นถึงความสำคัญ ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จึงได้เสนอโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้าง เข้าร่วมโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อเป็นแบบอย่าง ในการแสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งประสานความร่วมมือในการตรวจสอบการดำเนินงานป้องกันการทุจริต และการร่วมเสริมสร้างทัศนคติค่านิยมในความซื่อสัตย์ สุจริต อันจะส่งผลต่อการลดปัญหาการทุจริตของประเทศให้น้อยลง และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชนต่อไป

Advertisement

นายประจักษ์กล่าวว่า สตง. ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคาร ที่ทำการสำนักงาน สตง.แห่งใหม่ พร้อมสิ่งก่อสร้าง บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กทม.โดยเสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้างเป็นเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้จัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท

นายประจักษ์กล่าวว่า จากนั้นได้ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดยกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จากัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงาน ด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท

“ในการดำเนินโครงการดังกล่าว สตง.ได้ยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประหยัดและความคุ้มค่า ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กล่าวคือ สตง.ได้ดำเนินการจัดหา ผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคา ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 386.15 ล้านบาท” นายประจักษ์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image