อดีตผู้พิพากษา ศาลพิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมได้ แต่ต้องไม่ขวางสมาชิกจะประชุมสภา

อดีตผู้พิพากษา ศาลพิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมได้ แต่ต้องไม่ขวางสมาชิกจะประชุมสภา

วันที่ 1 มีนาคม นายวัส ติงสมิตร อดีตประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญา ว่า ไม่ว่าจะได้ฟ้องนอกหรือในสมัยประชุม ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา

ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตรา ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หน้า 222 (ปรับปรุง 17 ตุลาคม 2562) บทบัญญัติในวรรคสี่ของมาตรานี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้เปลี่ยนแปลงหลักการใหม่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญา ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ที่เดิมกำหนดว่า ศาลจะพิจารณาคดีอาญาที่สมาชิกถูกฟ้องนั้นในระหว่างสมัยประชุมมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ศาลถือเป็นองค์อำนาจหนึ่งของอำนาจอธิปไตย จึงควรมีอิสระในการพิจารณาคดี ไม่ควรให้ศาลต้องมาขออนุญาตต่อสภาเพื่อพิจารณาคดีต่อไป จึงกำหนดหลักการใหม่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ว่า ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีที่มีการฟ้องสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาในคดีอาญาในระหว่างสมัยประชุมได้โดยไม่ต้องขออนุญาตสภา แต่การพิจารณาคดีนั้นต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา

Advertisement

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลักการดังกล่าว “ให้ศาลพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้” หมายถึง ไม่ว่าจะนอกหรือในสมัยประชุมย่อมดำเนินคดีได้ และเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ย่อมจะส่งผลทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่กระทำความผิด อาจได้รับโทษจำคุกในระหว่างสมัยประชุมได้ เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาที่กระทำความผิดอาญาไม่อาจอาศัยความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ตนไม่ถูกดำเนินคดีได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image