คำถามพ่วงนิ่งแล้ว! สนช.ชี้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้ก๊อกสอง หากรอบแรกไม่ได้

สนช. ระบุ เจตนารมณ์คำถามพ่วงนิ่งแล้ว ยืนกรานส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯได้ เฉพาะก๊อกสอง หากเลือกรอบแรกไม่ได้

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. เพื่อสรุปความเห็นคำถามพ่วงที่กมธ.ส่งให้กรธ.นำไปพิจารณา ขณะนี้ถือเรื่องคำถามพ่วงของสนช.ถือว่านิ่งแล้ว นั่นคือ การพิจารณาเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกให้ ส.ส.และส.ว.สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา แต่หากไม่สามารถดำเนินการเลือกนายกฯตามบัญชีพรรคการเมืองได้ จะเข้าสู่ก๊อกสองคือ ให้สมาชิกรัฐสภา ซึ่งหมายความรวมถึงส.ว.มีสิทธิเสนอรายชื่อบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกเหนือจากบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ หมายถึงมีสิทธิเสนอชื่อคนนอกเป็นนายกฯได้ ทั้งนี้ภายใน 5 ปีแรก หากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อใด ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวทุกครั้ง หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรธ. ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเสนอของสนช.หรือไม่ ถ้ากรธ.จะตีความแบบแคบ ตามลายลักษณ์อักษรก็ไม่เป็นไร แต่สนช.ตีความแบบกว้าง ทั้งนี้หลังจากที่กรธ.แก้ไขปรับปรุงบทเฉพาะกาลเรียบร้อยแล้ว ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้งว่า มีความสอดคล้องกับคำถามพ่วงหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมูญเรียกสนช.ไปชี้แจง ก็พร้อมไปให้ข้อมูล

ด้าน นายธานี อ่อนละเอียด สมาชิกสนช. กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ให้ส.ส.พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกฯ แต่หากว่า ส.ส.ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ก็ให้ส.ส.เข้าชื่อไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกส.ส.เท่าที่มีอยู่ เช้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภา ซึ่งก็จะเป็นตามมาตรา 272 เพื่อขอยกเว้นให้เสนอชื่อนายกฯนอกบัญชีได้ แต่เมื่อคำถามพ่วงประชามติผ่านก็ต้องกลับมาพิจารณาว่า กระบวนการเลือกนายกฯนั้นจะเริ่มตั้งแต่แรกหรือไม่ โดยพิจารณาจากข้อความในคำถามพ่วงประชามติที่ว่า ร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งจะเห็นว่า ส.ว.จะต้องดำเนินการตั้งแต่ต้นจนจบ เหมือนที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ที่พูดชัดเจนคือ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งก็เปรียบเหมือนศาลที่จะมีคำติดสินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการไต่สวน สืบพยาน จนนำไปสู่การพิพากษา ดังนั้น ส.ว.จะร่วมพิจารณาโหวตนายกฯตั้งแต่เริ่มแรก โดยเลือกของบัญชีของพรรคการเมืองที่เสนอมา ยกเว้นกรณีไม่สามารถเลือกบัญชีรอบแรกได้ก็จะเข้าเงื่อนไขที่ให้ส.ว.มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกฯในรอบสองได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image