ประกันภัย’กัญชา’ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่

เศรษฐกิจกัญชง-กัญชากำลังมาแรงแซงเศรษฐกิจจากทุกภาคส่วน ก่อนหน้านี้ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุไว้ว่า จากการปลดล็อกของรัฐให้ใช้กัญชาและกัญชงเชิงพาณิชย์ได้ จึงเป็นก้าวแรกของการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์อาหารจากพืชเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตคึกคักอย่างมากสำหรับประเทศไทย แม้ขณะนี้ยังไม่อาจประเมินไว้มูลค่ากัญชงกัญชาต่อเศรษฐกิจจะเป็นเท่าไหร่

แต่ก็มีการคาดการณ์ไว้ในระดับโลกว่า แนวโน้มตลาดกัญชาและกัญชง จะมีมูลค่าเกิน 1.03 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2567 หรือภายใน 4 ปีข้างหน้า ตลาดหลัก คือ สหภาพยุโรป มูลค่า 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ สหรัฐ 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเอเชีย 12,500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะหลายประเทศเปิดเสรีการผลิตสินค้าจากพืช 2 ชนิดนี้แล้ว

ที่ผ่านมามีการจัดงานให้ความรู้ความเข้าใจหลายงาน ก็พบว่า ได้รับความนิยมเข้าร่วมกิจกรรมสูงเกินคาด ไม่ว่าเป็นกลุ่มผลิต กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มผู้ค้าต่างๆ ขณะที่สภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย จัดแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกต่อเนื่อง ซึ่งตามข้อมูลของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า ตอนนี้มีวิสาหกิจชุมชนที่ขออนุญาตปลูกกัญชาแล้วกว่า 300 แห่ง

เมื่อเห็นถึงอนาคตผลิตภัณฑ์จากกัญชามาแน่แล้ว คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็มองเห็นอนาคตและรับลูกทันต่อสถานการณ์ โดย อาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย คปภ. เปิดเผยว่า คปภ.กำลังเร่งศึกษาการออกประกันภัยคุ้มครองพืชกัญชา เบื้องต้นศึกษาใน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบแรก เป็นการอิงประกันภัยพืชผลทางการเศรษฐกิจ ซึ่งหลายพืชเศรษฐกิจของไทยมีแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยแล้วหลายชนิด และหลายบริษัทให้เลือก เช่น ข้าว ซึ่งในรูปแบบแรกจะดูโครงสร้างต้นทุนด้านการผลิต ที่อาจเกิดความเสียหายจากภัยพิบัติต่างๆ ทั้งมหันตภัยอากาศร้อนแล้ง อุทกภัยน้ำท่วม โรคระบาด เป็นต้น การคิดคำนวณต้องดูตั้งแต่การเพาะปลูกนั้นต้นทุนอะไรบ้าง สายพันธุ์กัญชา ราคาเมล็ดพันธุ์กัญชา ซึ่งทราบว่ามีหลากหลายตั้งแต่ 30 บาทไปถึงเกิน 500 บาทก็มี ค่าใช้จ่ายการเพาะปลูกอย่างไร ทั้งค่าปุ๋ย ค่าโรงเรือนเพาะเลี้ยง การเพาะปลูกแบบระบบเปิด-ปิด เป็นต้น อีกทั้งเมื่อเกิดความเสียหายในระหว่างการเพาะปลูกก็ต้องทำลายทิ้ง ล้วนเป็นความเสี่ยงและเกิดมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น อีกรูปแบบ คือ ประกันราคา ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงทุกระดับของราคา ตั้งแต่ราคาต้นทุน ราคาตลาด ราคารับซื้อจริง ราคาที่เกตรกรคาดหวัง ว่าจะกำหนดอัตราเบี้ยประกันและการชดเชยอย่างไร จึงจะเป็นที่ต้องการแท้จริง และสุดท้ายราคาทอนไปเป็นต้นทุนภาคเกษตรได้เท่าไหร่

Advertisement

“คปภ.ได้มีการศึกษาร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และเกษตรกรเอง เพื่อให้รู้ถึงความต้องการและความจำเป็น ซึ่งหลายบริษัทประกันภัยเองก็มีการศึกษาอยู่แล้ว และเริ่มเข้ามาหารือกับ คปภ.แล้วเช่นกัน คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆ นี้ และเชื่อว่าจะเป็นประกันภัยอีกประเภทที่ได้รับความนิยม เหมือนกับกระแสการตื่นตัวเรื่องกัญชาของคนไทยในขณะนี้” อาภากรกล่าว

ขณะที่ “นพ.สำเริง แหยงกระโทก” อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนรักษ์โคราช มองว่า จากนี้ไปกัญชาจะเป็นพืชเศรษฐกิจคนให้ความสนใจกันมาก แต่ปัญหาสำคัญที่สุดตอนนี้ไม่ใช่เรื่องประกันภัยหรือประกันราคา แต่เป็นเรื่องการขออนุญาตปลูก ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก เพราะมีทั้งกฎหมาย กฎระเบียบของกฎกระทรวงของกรมต่างๆ วิสาหกิจที่อยากปลูกกัญชาอยู่ในขณะนี้ แต่ยังปลูกไม่ได้ จะมีวิธีการอย่างไรให้กลุ่มวิสาหกิจ

Advertisement

สามารถปลูกได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อได้ปลูกแล้ว ก็เป็นเรื่องของการประกันราคาที่น่าจะเป็นสิ่งที่ดี เพราะราคาราก ต้น ใบ ที่ทำธุรกิจอยู่ขณะนี้ ราคาค่อนข้างผันผวน ขึ้นลงค่อนข้างสูง จากเดิมใบสดกิโลกรัมละ 1,000 บาท ก็พุ่งขึ้นเป็น 15,000 บาท เพราะสาเหตุมาจากขาดตลาด ร้านอาหารจะขอซื้อไปเป็นวัตถุดิบทำเมนูอาหารกันมาก หากมีการระบุราคากลางเอาไว้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้ราคาไม่สะวิงอย่างที่เป็นอยู่นี้ ส่วนเรื่องภัยพิบัติ ตนมองว่า ไม่ค่อยจะเกิดขึ้นบ่อยนัก และการปลูกกัญชง-กัญชา มักจะปลูกในโรงเรือน ระบบปิด จึงมองว่าการประกันราคาน่าจะเหมาะสมกว่าการประกันภัยพืชกัญชา

ขณะที่ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง และประธานกลุ่มวิสาหกิจวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์เพชรลานนา ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ระบุว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะเป็นการดูแล หรือคุ้มครองพืชกัญชา เชื่อว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่สำคัญของประเทศไทยต่อไป ซึ่งผลผลิตทางการเกษตร ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือแม้กระทั่งปาล์ม ยางพารา ก็ล้วนแต่มีการประกันราคารับซื้อ หรือมีการช่วยเหลือเกษตรกร หากเกิดภัยทางธรรมชาติขึ้น ฉะนั้น หากมีการประกันพืชกัญชาด้วย ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่การปลูกกัญชาขณะนี้ที่มีการดูแลอย่างดี ทั้งการปลูก นอก และในโรงเรือน ถือว่ามีการดูแลกันตลอดเวลา ส่วนภัยที่มักจะเกิดขึ้นกับแปลงปลูกนั้นก็อาจจะไม่เกิดขึ้น แต่หากต่อไปมีการกระจายกันปลูกมากขึ้นตามพื้นที่ อาจจะเป็นสิ่งดีที่จะดูแลเกษตรกร เพราะพื้นที่ภาคเหนือการเกษตรส่วนใหญ่ มักประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และพายุฝนลมแรง ที่จะทำให้ต้นกัญชาเกิดความเสียหายได้

ด้าน “วิศารท์ พจน์ประสาท” ประธานวิสาหกิจชุมชนศูนย์อภิบาลด้วยพืชสมุนไพรแห่งริเวอร์แควจังหวัดกาญจนบุรี มองว่า การทำประกันเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจกัญชา นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากโรงปลูกกัญชาระบบปิดมีราคาต้นทุนสูง รวมถึงโรงแบบเปิดที่มีมูลค่าในการเพาะปลูกโรงเลี้ยง โรงปลูก มีขั้นตอนและขบวนการที่ซับซ้อน กว่าจะได้ผลผลิตที่ต้องการ เพื่อผลิตยาในทางการแพทย์ หากมีการทำประกันในด้านของภัยธรรมชาติ หรือในด้านโรคระบาด จะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการลงทุน รวมถึงต่างชาติก็จะมีความมั่นใจในการลงทุน เนื่องจากโรงปลูกแบบปิดมีต้นทุนราคาสูง หลายสิบล้านบาท ดังนั้นหากมีการประกันในด้านการรับรองอาคารและรับรองด้านกายภาพต่างๆ จะดีมาก

ส่วนเรื่องการประกันราคาซื้อขายไม่เห็นด้วยเนื่องจากราคาซื้อขายกัญชามีหลายตลาดในประเทศและต่างประเทศ และการผลิตต้นกัญชาก็มีหลายโรงปลูก ซึ่งบางโรงปลูกมีมาตรฐานทางการแพทย์สูงจะทำให้ราคาสูง ส่วนของวิสาหกิจชุมชนเป็นการปลูกในระบบโรงเรือนทั่วไป อาจจะมีสารปนเปื้อน ดังนั้นการประกันราคาจะทำให้เกิดปัญหาและข้อพิพาทในภายหน้า เห็นควรให้กลุ่มประกันภัยเร่งรัดพิจารณาจัดการทำประกันในรูปแบบของพืชกัญชาในลักษณะของโรงปลูกต่างๆ ขอบเขตความรับผิดชอบ และราคาในการรับผิดชอบ เพื่อให้เกษตรกรและนักลงทุนมีความมั่นใจในพืชเศรษฐกิจกัญชาและกัญชง
เหล่านี้คือ แรงกระเพื่อมรับอนาคตพืชเศรษฐกิจอย่างกัญชา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image