‘โรม’ ยัน กมธ.สามารถเชิญ ปธ.ศาลฎีกาเข้าชี้แจงได้ ย้ำไม่ผิด รธน.129 พร้อมรอฝ่าย กม.สภาพิจารณาว่าทำได้หรือไม่

“โรม” ยัน กมธ.สามารถเชิญ ปธ.ศาลฎีกาเข้าชี้แจงได้ ย้ำไม่ผิด รธน.129 พร้อมรอฝ่าย กม.สภาพิจารณาว่าทำได้หรือไม่ ประกอบการตัดสินใจของ กมธ.

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 1 เมษายน ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นประธาน โดยที่ประชุมหารือกรณีที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และโฆษก กมธ. เสนอและขอมติจากที่ประชุมให้เชิญประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจงข้อมูลต่อ กมธ. ถึงสาเหตุที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวแกนนำการชุมนุมทางการเมือง หรือแกนนำคณะราษฎร

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ความเห็นตนคิดว่าน่าจะทำได้ เนื่องจากมาตรา 129 กำหนดว่า กมธ.ทำไม่ได้หากกระทบต่ออรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กมธ.กฎหมายฯ และ กมธ.อื่นๆ ในทางปฏิบัติอเราเคยเชิญผู้พิพากษามาชี้แจงในหลายๆ ประเด็นที่ไม่กระทบต่ออรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคล เช่นเดียวกับกรณีนี้ เราเรียกประธานศาลฎีกามาชี้แจง ซึ่งตัวประธานศาลฎีกาเองก็ไม่ได้พิจารณาคดีใดคดีหนึ่ง และไม่ได้กระทบต่องานบุคคล

ดังนั้น การเรียกประธานศาลฎีกามาชี้แจงนั้น ก็เพื่อสอบถามถึงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการ เป็นการเชิญมาคุยในภาพรวม ดังนั้น การเรียกมาในครั้งนี้จึงไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน กมธ.การกฎหมายฯ สามารถเชิญได้

Advertisement

นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า กมธ.ต้องยอมรับตรงไปตรงมาว่า วันนี้เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะเชิญ หรือไม่เชิญ และหากจะเชิญมาจะเป็นการแทรกแซงการทำหน้าที่ของตุลาการหรือไม่จึงมีความกังวลในเรื่องนี้ ทาง กมธ.จึงมีมติส่งหนังสือเพื่อถามไปยังฝ่ายกฎหมายของสภาว่า หนังสือคำร้องของตนที่จะเชิญประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจงกรณีข่าวลือว่ามีการแทรกแซงจากบุคคลภายนอกที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียจะสามารถทำได้หรือไม่ และการที่ กมธ. จะขอตัวบันทึกการประชุม ของการประชุมใหญ่ศาลฎีกาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะสามารถทำได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวของตนนั้น หากความเห็นของฝ่ายกฎหมายออกมาอย่างไรไม่ใช่ข้อยุติ เพราะ กมธ.จะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ต้องนำสิ่งที่ฝ่ายกฎหมายตอบมานั้นมาพิจารณาประกอบ

ขณะที่ นายสิระกล่าวว่า ต้องรอฝ่ายกฎหมายสภาตอบกลับมาก่อนว่าทำได้หรือไม่ โดยจะมีการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 7 เมษายนนี้ เวลา 09.30 น. โดยจะลงมติในกรณีดังกล่าว เพราะ กมธ.ทุกคนมีวุฒิภาวะที่สามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาได้

เมื่อถามว่า ที่ปรึกษานายชวน หลีกภัย ประธานสภา แถลงข่าวระบุ การเชิญประธานศาลฎีกาเข้าชี้แจงข้อมูลต่อ กมธ.นั้น ไม่สามรถทำได้ นายรังสิมันต์กล่าวว่า การแสดงความคิดเห็นของที่ปรึกษาประธานสภานั้น ตนเกรงว่าท่านอาจจะไม่ได้ดูรายละเอียดในหนังสือที่จะส่งให้ฝ่ายกฎหมายของสภาพิจารณา อาจจะทำให้ที่ปรึกษาให้ความเห็นจากการดูจากสื่อต่างๆ ซึ่งสื่อแต่ละที่ก็พาดหัวไม่เหมือนกัน ก็ขึ้นอยู่กับว่าท่านดูจากสื่อไหนจึงทำให้ท่านให้ความเห็นคลาดเคลื่อนจากเป้าประสงค์ของการทำหน้าที่ของ กมธ. ทั้งนี้ ยืนยันว่า โดยหลักการแล้ว กมธ.สามารถเรียกประมุขฝ่ายตุลาการมาชี้แจงได้แน่นอน โดยเราไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเป็นคดีใด เพราะถ้าลงรายละเอียดเราทำไม่ได้ แต่อาจถามเกี่ยวพันไปถึงเรื่องอื่นๆ เพราะการถามคำถามของผู้พิพากษาในที่ประชุมใหญ่อาจเกี่ยวพันกับการไม่ให้ประกันตัวคณะราษฎร ซึ่งอาจดูเหมืนอว่าเราลงรายละเอียด แต่เป้าประสงค์เราไม่ต้องการลงรายละเอียดตรงนั้น แต่ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของ กมธ.ไม่ผิดข้อบังคับ และไม่ผิดรัฐธรรมนูญ

เมื่อถามว่า การใช้ข่าวลือ มีน้ำหนักพอหรือไม่ ที่จะทำให้ต้องทำหนังสือเสนอต่อ กมธ. เพื่อเชิญบุคคลมาชี้แจง นายรังสิมันต์กล่าวว่า ข่าวลือมีน้ำหนักพอหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากัน แต่ข่าวลือดังกล่าวก็ทำให้โฆษกศาลออกมาชี้แจง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคงจะมีน้ำหนักมากพอสมควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image