‘เนติวิทย์’ ขอบคุณทุกคะแนนเสียง ส่งนั่งนายกสโมสรนิสิตฯ ปลื้มคนรัฐศาสตร์ใช้สิทธิเลือกตั้งสูงมาก

‘เนติวิทย์’ ขอบคุณทุกคะแนนเสียง ส่งนั่งนายกสโมสรนิสิตฯ ร่วมผลักดันสู่ ‘จุฬาฯของทุกคน’

หลังจากนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเทคะแนนเสียงให้ นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ชนะการเลือกตั้งองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ประจำปีการศึกษา 2564

โดย องค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลคะแนนไม่เป็นทางการว่า ผลการลงคะแนนที่ประมวลผลโดยระบบผ่านแอพพลิเคชั่น CU NEX โดยผลประกาศอย่างเป็นทางการจะตามมาในวันที่ 5 เมษายน 2564

ทั้งนี้ จำนวนผู้มีสิทธิลงคะแนน 26,219 จำนวนผู้มาลงคะแนน 14,691 คิดเป็น 56.03% หมายเลข 1 คือนายเนติวิทย์ ได้คะแนน 10,324 ทิ้งห่างหมายเลข 2 ที่ได้คะแนน 2,030 ขณะที่หมายเลข 3 ได้คะแนน 695 โดยมีคะแนนงดออกเสียง งดออกเสียง 1,642

Advertisement

อ่านข่าว : นิสิตจุฬาฯ โหวต “เนติวิทย์” นั่ง นายกสโมสรนิสิตฯ คะแนนถล่มทลาย

ล่าสุด วันนี้ (1 เมษายน) นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ออกมากล่าวขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ตนและพรรคเข้ามาบริหาร อบจ.

นายเนติวิทย์กล่าวว่า ผมขอขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ผมและพรรคเข้ามาบริหารองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ (อบจ.) ในภาคการศึกษาหน้า ปีนี้นิสิตจุฬาฯออกมาใช้สิทธิ 14,691 คน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี

“ส่วนตัวผมก็ได้คะแนนอย่างไม่คาดคิด กล่าวคือ 10324 เสียง ซึ่งคิดเป็นกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิ ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะตัวผมมีดีอะไร (แม้อาจจะมีคนเชื่อแบบนั้นก็ตาม) แต่นิสิตคงเล็งเห็นแล้วว่า ตลอดหลายปีมานี้ สังคมของเราเสื่อมถอยลงไปเรื่อยๆ และมหาวิทยาลัยก็เป็นส่วนหนึ่งในการค้ำยันให้สังคมเผด็จการยังดำเนินต่อไปได้ มหาวิทยาลัยไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนิสิต บุคลากร ชุมชน และสังคม

“ดังนั้น ด้วยโอกาสนี้ นิสิตจึงต้องการให้มหาวิทยาลัยดำเนินแนวทางไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ตัวนิสิตและสังคมมากขึ้น ละเลิกการแสวงหากำไรที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาพื้นที่ ทำลายชุมชนรอบรั้วของเรา โดยเฉพาะชุมชนสามย่าน หยุดทำลายมรดกทางวัฒนธรรมอย่างศาลเจ้าแม่ทับทิมที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรม ให้ศาลเจ้ากับคอนโดมิเนียมใหม่อยู่ร่วมกันได้ และเป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริงในการสร้างประชาธิปไตยในสังคม

“เสียงที่สะท้อนผ่านพรรคของเราซึ่งมีนโยบายในการพัฒนาสังคมและเน้นความหลากหลายแตกต่าง ก็แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างหลากหลายกำลังถูกคุกคามมากแค่ไหน การจับกุมคุมขังคนคิดเห็นแตกต่างนั้นกำลังจะแบ่งแยกสังคมออกเป็นเสี่ยงๆ โดยเฉพาะมาตรา 112 กำลังกัดกร่อนความไว้วางใจของคนรุ่นใหม่กับสังคมที่พวกเขาอยู่

“เพนกวิน รุ้ง ป้าอัญชัญ และคนอื่นๆ ที่โดนคดีมาตรา 112 และคดีทางการเมืองอื่นควรได้รับการประกันตัว
สังคมควรจะอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของเหตุผล ความจริง และความเคารพ ที่ปราศจากความกลัว การครอบงำ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องท้าทาย

“ผมและสมาชิกพรรคทุกคนรู้สึกหนักอึ้งไม่น้อยต่อความคาดหวังที่มีให้กับพวกเรา แต่ก็มีความตื่นเต้นอย่างมากที่จะได้มีโอกาสผลักดันสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น โดยจะพยายามอย่างเต็มที่ในปีการศึกษาที่จะถึงนี้ (ขณะนี้ผมยังเป็นนายกสโมสรนิสิตรัฐศาสตร์จนถึงพฤษภาคมนี้)

“ผมขอขอบคุณนิสิตทั้งหลายที่โหวตผมและเพื่อนๆ ใครไม่โหวตพวกเราก็ต้องขอบคุณเช่นกัน การมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยในจุฬาฯ ผมขอบคุณเพื่อนๆ นิสิตจากหลายคณะที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ช่วยทำภาพประชาสัมพันธ์ คลิปวิดีโอ และให้คำแนะนำต่างๆ

“ขอบคุณเพื่อนนิสิตที่เรียนจบไปแล้วแต่ก็เป็นห่วงใย โดยเฉพาะเหล่าผู้ถูกจุฬาฯกลั่นแกล้ง ตัดคะแนนในกรณีถวายสัตย์ฯเมื่อสามปีก่อนที่เชียร์เต็มที่ให้กับเพื่อนคนนี้ที่ไม่ยอมเรียนจบสักที อาจารย์จากหลากหลายคณะและกัลยาณมิตรนอกแวดวงมหาวิทยาลัยที่เมื่อขอคำแนะนำปรึกษาก็ยินดีช่วยเหลืออย่างเต็มที่

“ผมยังรู้สึกดีใจมากด้วยที่ ‘บ้าน’ คือ ‘คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ นิสิตออกมาใช้สิทธิสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดในรอบหลายสิบปี การที่มีกำลังใจจากที่นี่ เป็นสิ่งสำคัญมาก การทำงานคงไม่ง่ายและคงจะเหน็ดเหนื่อยเอาการ

“ผมหวังว่าจะได้รับคำแนะนำตักเตือนฉันมิตร และคำชี้แนะจากนิสิต บุคลากร และภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ในสิ่งต่างๆ ที่พวกเราจะทำ ผมหวังว่าจะได้รับฟังนิสิต บุคลากร และท่านอื่นๆ มากยิ่งขึ้น

“กระนั้นในที่สุดแล้ว งานนี้ไม่ใช่งานของกลุ่มคนไม่กี่คน ถ้าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องมาร่วมด้วยช่วยกัน พวกเราหวังเป็นอย่างที่สุดว่านิสิตจะมาร่วมผลักดันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็น ‘จุฬาของทุกคน’ อย่างแท้จริง

“ปล.ฝากสำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ที่ผมและเพื่อนๆ แปลงานดีๆ มาสู่ภาษาไทยไว้สนับสนุนด้วยนะครับ samyanpress.bentoweb.com

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image