วิโรจน์ ยัน กมธ.เชิญประธานศาลฎีกาหารือได้ แนะใครบอกไม่ได้ ลองอ่านม.129 ให้ดีๆช้าๆ

วิโรจน์ ยัน กมธ.เชิญประธานศาลฎีกาหารือได้ แนะใครบอกไม่ได้ ลองอ่านม.129 ให้ดีๆช้าๆ

เมื่อวันที่ 1 เมษายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเป็นโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความแสดงความเห็น กรณีปัญหาการถกเถียงข้อกฎหมาย หลัง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เตรียมเสนอกมธ.เชิญ ประธานศาลฎีกา ชี้แจงกรณีข่าวปัญหาการถกเถียงกันในวงผู้พิพากษาเรื่องสิทธิการประกันตัวแกนนำคณะราษฎร โดยนายวิโรจน์แสดงความเห็น ระบุว่า

เชิญประธานศาลฎีกา มาหารือ โดยไม่ได้แทรกแซงการพิจารณาอรรถคดี ไม่ได้ก้าวก่ายงานบุคคล กมธ. เชิญได้

กรณีที่มีหลายท่าน ออกมาให้ความเห็นในทำนองที่ว่า คณะกรรมาธิการสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถเชิญประธานศาลฎีกา หรือผู้แทนจากศาลมาหารือได้เลย ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ แล้วอำนาจนิติบัญญัติ จะถ่วงดุลอำนาจตุลาการ ได้อย่างไร

แล้วหลักการ 3 อำนาจ อันได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ นั้นตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน จะเกิดขึ้นในทางปฏิบัติได้อย่างไร

Advertisement

ผมขออนุญาตแนะนำให้คนที่บอกว่า “ไม่ได้” ให้กลับไปอ่านรัฐธรรมนูญ มาตรา 129 วรรค 4 ให้ดีๆ ช้าๆ อีกครั้ง ไม่ใช่แค่ยกเอามาตรา 129 มาอ้างดื้อๆ แล้วก็บอกว่า “เชิญไม่ได้” โดยมาตรา 129 วรรค 4 ระบุเอาไว้ ดังนี้

“คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงหรือศึกษาอยู่นั้นได้ แต่การเรียกเช่นว่านั้นมิให้ใช้บังคับแก่ผู้พิพากษาหรือตุลาการ ที่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดี หรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับแก่ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจโดยตรงในแต่ละองค์กรตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี”

การเชิญประธานศาลฎีกา มาเพื่อหารือเกี่ยวกับกรณีที่มีบุคคลกล่าวอ้างว่า “มีบุคคลภายนอกบังอาจมาสั่งศาล” นั้นมีข้อเท็จจริงเป็นประการใด

Advertisement

รวมทั้งอาจจะมีการพูดคุยถึงการแสดงออกถึงสิทธิ และเสรีภาพทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ ของท่านในอดีต

ซึ่ง 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ไม่ได้เป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาอรรถคดี แต่อย่างใด และไม่ได้เป็นการเข้าไปก้าวก่ายการบริหารงานบุคคลใดๆ ของศาล แต่เป็นการสอบถามถึงประเด็นที่กระทบกับภาพลักษณ์ของอำนาจตุลาการด้วยความห่วงใย ตลอดจนสอบถามถึงแนวทางในการรับมือต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยความปรารถนาดี ที่จะช่วยธำรงความน่าเชื่อถือของสถาบันตุลาการ

ทำไมจะทำไม่ได้ กระบวนการเหล่านี้ คือ กระบวนการถ่วงดุล ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ที่ชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตย ที่สามารถทำได้อย่างสง่างาม และต้องทำด้วย

ยืนยันครับว่า ตราบใดที่ไม่ได้แทรกแซง การพิจารณาอรรถคดีของผู้พิพากษา ไม่ได้ไปก้าวก่ายการแต่งตั้งโยกย้าย หรืองานบุคคลใดๆ เชิญได้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image