‘ณัฐวุฒิ’ ชี้ ใช้ 5 หมื่นชื่อ ไม่สอดรับหลักมีส่วนร่วมประชาธิปไตย


‘ณัฐวุฒิ’ ชี้ ใช้ 5 หมื่นชื่อ ไม่สอดรับหลักมีส่วนร่วมประชาธิปไตย เผย กมธ.รัฐบาล กังวล ปชช. 2 กลุ่ม ทำประชามติชนกัน

เมื่อวันที่ 3 เมษายน นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. … รัฐสภา กล่าวว่า กมธ.เสียงข้างน้อย ได้ตั้งข้อสงวนความเห็นต่อการปรับแก้ไขมาตรา 11 ที่กำหนดให้ประชาชน จำนวน 50,000 คนเข้าชื่อเสนอเรื่องทำประชามติ เพราะถือว่าเป็นจำนวนที่มากเกินไป จึงควรใช้จำนวน 10,000 รายชื่อแทน โดยจะนำข้อสงวนนี้ไปอภิปรายในรัฐสภาในวันที่ 7 เมษายนนี้

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า กมธ.เสียงข้างมากในสัดส่วนของรัฐบาล รวมถึง ส.ว. ที่เสนอให้ใช้ จำนวน 50,000 คนเข้าชื่อเสนอเรื่องทำประชามติ ได้ให้เหตุผลกังวลอยู่ 3 เรื่องคือ 1.กมธ.เสียงข้างมาก มีความกังวลว่าข้อกฎหมายที่ใช้อ้างอิงเรื่องจำนวนประชากร 10,000 คน มาจากไหน ซึ่ง กมธ.เสียงข้างน้อยได้ชี้แจงว่า เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ผ่านความเห็นของรัฐสภาไปก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามกมธ. เสียงข้างมากเห็นว่า ไม่ใช่ข้ออ้างที่มีน้ำหนัก เพราะข้ออ้างอิงที่น่าจะเทียบเคียงกันควรจะใช้การเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องใช้ 50,000 คนขึ้นไป 2.กมธ.เสียงข้างมาก มองว่าการทำประชามติจะต้องเป็นเรื่องระดับชาติเท่านั้น แต่ตนมองว่า คำว่าเรื่องระดับชาติยังมีข้อถกเถียงในรายละเอียด เพราะ ประเด็นระดับชาติ กับพื้นที่ระดับชาติ ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างกรณีข้อพิพาทการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ก็สามารถมองเป็นประเด็นระดับชาติได้ เพราะส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนภาคใต้ทั้งหมด

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า และ 3.กมธ.เสียงข้างมาก มีความเห็นว่า หากใช้ 10,000 รายชื่อ อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องที่จะเสนอการทำประชามติก่อนที่จะทำประชามติด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก เช่น หากมีประชาชนกลุ่มหนึ่งเห็นว่าเรื่องนี้ควรทำประชามติ ก็จะเข้าชื่อ 10,000 คน แต่ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งมองเรื่องเดียวกันแตกต่างออกไป จึงเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรทำประชามติ ก็ไปเข้าชื่อมาอีก 10,000 คนมาเช่นเดียวกัน สุดท้ายจะสร้างความยุ่งยากให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการพิจารณาว่าควรจะทำประชามติหรือไม่ นอกจากนี้ กมธ.เสียงข้างมาก ได้ระบุในที่ประชุมว่า ในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 ได้มีการเพิ่มให้ใช้ระบบดิจิทัลต่างๆ เข้ามาช่วยในการรวบรวมรายชื่อ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อาจจะใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาออกแบบในหลักเกณฑ์การเข้าชื่อในการรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อ ทำให้การรวบรวมรายชื่อทำได้ง่ายขึ้น

Advertisement

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กรณีที่ตน และนายชูศักดิ์ ศิรินิล ตั้งข้อสงวนเรื่องจำนวนการเข้าชื่อของประชาชน 10,000 คนนั้น เป็นไปตามความเห็นร่วมกันของพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม ดังนั้นก่อนถึงการประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญในวันที่ 7 เมษายนนี้ หากพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นไปในทิศทางอื่น เราก็อาจจะพิจารณาเรื่องจำนวนกันอีกครั้ง เพราะยังไม่ถึงขั้นปิดตายในมาตรา 11 เพียงแต่เห็นว่าหากใช้จำนวนประชากรที่มากไปจะไม่สมกับเจตนารมณ์ ที่ต้องการให้จดหมายฉบับนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในประชาธิปไตยแบบทางตรงมากยิ่งขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image