“ทวี สอดส่อง” ร่วมไว้อาลัยผู้เสียสละชีวิต ในเหตุดับเพลิงไฟไหม้ที่หมู่บ้านกฤษดานคร31

“ทวี สอดส่อง” ร่วมไว้อาลัยผู้เสียสละชีวิต ในเหตุดับเพลิงไฟไหม้ที่หมู่บ้านกฤษดานคร31

เมื่อวันที่ 4 เมษายน พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรและเลขาธิการพรรคประชาชาติ  ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ร่วมไว้อาลัยผู้เสียสละชีวิต จากเหตุเพลิงไหม้ ที่หมู่บ้านกฤษดานคร31 เขตทวีวัฒนา โดยระบุว่า

ร่วมไว้อาลัยผู้เสียสละชีวิต และเรียกร้องรัฐบาลพัฒนา “วิชาชีพดับเพลิงและกู้ภัย” ให้เกิดขึ้น

ขอแสดงไว้อาลัยและรำลึกถึงคุณความดีของผู้เสียชีวิต จำนวน 5 คน จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ บ้านเดี่ยว 3 ชั้น ซ.บรมราชชนนี 105 เขตทวีวัฒนา กทม. เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2464 และให้กำลังใจเสียใจกับผู้ได้รับบาดเจ็บ 6 คน ที่รักษาตัวอยู่ด้วย สำหรับ ผู้เสียชีวิต คือ

1.นายธนภพ ประไพ อายุ 44 ปี (เหนือ 33-120) ครูฝึกดับเพลิง เจ้าหน้าที่สังกัดมูลนิธิสยามนนทบุรี
2.นายสมัชชา นิลธง อายุ 48 ปี เจ้าหน้าที่ รหัส ธน27-30 สังกัดหน่วยบรรเทาสาธารณภัย ธน 27-00
3. นายอรรถพล ท้วมทอง อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่รหัส ธน 27-85สังกัดหน่วยบรรเทาสาธารณภัย ธน 27-00
4. นายสุทัศน์ เปลี่ยนกลัด อายุ 38 ปี เจ้าหน้าที่ รหัส ธน 27-32 สังกัดหน่วยบรรเทาสาธารณภัย ธน 27-00
5.นายเกียรติ แพตเตอร์สัน อายุ 35 ปี ลูกจ้างเจ้าของบ้าน

Advertisement

ผู้เสียชีวิตจากอัคคีภัย มีจำนวน 4 ท่าน เป็นอาสาสมัครดับเพลิงและกู้ภัยที่ภัยเกิดกับคนอื่น แต่อาสาสมัครยอมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือจนทำให้ตนเองต้องเสียชีวิตแทน ทุกท่านเป็นตัวอย่างผู้เสียสละที่ควรยกย่อง เป็นผู้ทำงานเพื่องานที่ไม่หวังผลตอบแทน จึงขอแสดงความสดุดีเทอดเกียรติทุกท่านอย่างสูง

อยากฝากให้รัฐบาลและทุกภาค ได้ตื่นรู้ให้คุณค่าและความสำคัญช่วยกันยกระดับคุณภาพงานด้านดับเพลิงและกู้ภัยในประเทศไทยให้พัฒนาขึ้น ปัจจุบันได้ถูกหลงลืม ละเลย ที่เห็นคุณค่าต่อเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น ทั้งที่มีหน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชน อาสาสมัคร และประชาชนทั่วไปเป็นผู้ปฏิบัติงานดับเพลิงและกู้ภัยเป็นจำนวนมาก จึงถึงเวลาที่รัฐและสังคมไทยต้องผลักดันให้บัญญัติกฏหมายและการสนับสนุนให้เป็น “วิชาชีพดับเพลิงและกู้ภัย” เพราะเป็นงานที่ต้องใช้จริยธรรม ความรู้ความชำนาญเฉพาะด้าน เป็นมาตรฐานวิชาชีพ และเป็นองค์กรวิชาชีพให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฏหมายและองค์กรวิชาชีพอยู่ 17 องค์กร ที่ยังไม่มีวิชาชีพด้านดับเพลิงและกู้ภัยรวมอยู่ด้วย ซึ่ง 17 องค์กรวิชาชีพ ได้แก่ 1) คุรุสภา 2) สภาทนายความ 3) สภาวิศวกร 4) สภาสถาปนิก 5) สภาวิชาชีพบัญชี 6) สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ 7) ทันตแพทย์สภา 8) แพทยสภา 9) สภาเภสัชกร 10) สัตวแพทย์สภา 11) สภาการพยาบาล 12) สภากายภาพบำบัด 13) สภาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี 14) สภาเทคนิคการแพทย์ 15) สภาการสาธารณสุขชุมชน 16)สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ 17) สภาการแพทย์แผนไทย

คำว่า วิชาชีพ และอาชีพ จะต่างกัน ที่สรุปให้เข้าใจง่ายๆ คือ

’วิชาชีพ’ มุ่งด้านการช่วยเหลือ ศีลธรรมจรรยา ที่เป็นงานให้บริการสาธารณะที่เป็นการช่วยเหลือชีวิตมนุษย์ ทรัพย์สินและสิ่งมีชีวิตรวมโลกให้ปลอดภัย ผู้ทำต้องมีทักษะเฉพาะ ความรู้ ความชำนาญ และมีจิตสาธารณะ

‘อาชีพ’ มุ่งหวังค่าตอบแทน หรือมุ่ง กำไร กำไร และกำไร ที่เป็นตัวเงินและวัตถุเพื่อดำรงชีวิตสร้างความสุขสบายให้ตนและบริวาร

ความสูญเสียครั้งใหญ่นี้ เชื่อว่าคงไม่ใช่เป็นครั้งสุดท้าย แต่อยากให้นำคุณค่าของผู้สูญเสียชีวิตผลักดัน “วิชาชีพดับเพลิงและกู้ภัย” ให้เกิดกฏหมายและองค์กรที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพและเป็นสากลที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้ปฏิวัติงานด้านดับเพลิงและกู้ภัย รวมทั้งป้องกันความเสี่ยง ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image