ผศ.ดร.ปริญญา เขียนบทความวิชาการ ปัญหาการไม่ปล่อยชั่วคราว-ไม่ให้ประกันตัว

ผศ.ปริญญา เขียนบทความ ปัญหาการไม่ปล่อยชั่วคราว-ไม่ให้ประกันตัว

เมื่อวันที่ 5 เมษายน ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์สาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความปัญหาเชิงวิชาการด้านกฎหมาย ในประเด็นการปล่อยตัวชั่วคราว ระบุว่า

ปัญหาการไม่ปล่อยชั่วคราว หรือ ไม่ให้ประกันตัว ที่ไม่เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดอันแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของหลักนิติรัฐ หรือหลักนิติธรรม ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรทุกฉบับของประเทศไทยตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 เป็นต้นมา

Advertisement

ดังนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107 จึงกำหนดเป็นหลักไว้ว่า “ผู้ต้องหาหรือจําเลย ทุกคน พึงได้รับอนุญาต ให้ปล่อยชั่วคราว” เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนไม่ว่าจะเป็นการถูกกล่าวหาโดยคดีใด สามารถที่จะมีสิทธิ สู้คดีนอกคุก หรือไม่ติดคุกก่อนศาลพิพากษา

โดยการไม่ให้ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น คือต้องเข้าเหตุหนึ่งเหตุใดใน 5 เหตุที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

“มาตรา 108/1 การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวจะกระทําได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
(1) ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดําเนินคดีในศาล”

Advertisement

เนื่องจากการไม่ให้ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น มาตรา 108/1 วรรคสอง จึงกำหนดไว้ว่า หากศาลมีคำสั่งไม่ปล่อยชั่วคราว ศาลจะต้อง “แสดงเหตุผล และ ต้องแจ้งเหตุดังกล่าว ให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยและผู้ยื่นคําร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว”

ถามว่าศาลท่านได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ที่ได้กล่าวมานี้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองในขณะนี้? ผมขอยกตัวอย่างการไม่ให้ปล่อยชั่วคราวในคดีหนึ่งให้พิจารณาดังนี้ครับ

ในคดีนี้ผู้พิพากษาเจ้าของคดี (ขออนุญาตปิดชื่อจำเลยไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ทราบว่าผู้พิพากษาท่านนี้คือใคร) ได้เขียนเป็นลายมือไว้ในคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวดังนี้

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่าคดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง อีกทั้งการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำซ้ำๆ ต่างกรรมต่างวาระตามข้อกล่าวหาหลายครั้งหลายครา กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยทั้งสี่อาจไปก่อนเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้อง, แจ้งคำสั่งให้ทราบและคืนหลักประกัน”

โดยสรุปท่านผู้พิพากษาในคดีนี้ไม่ให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้เหตุผล 2 ประการคือ “คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง” และ “หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” คำถามคือทั้งสองเหตุผลเป็นเหตุยกเว้นไม่ปล่อยชั่วคราวข้อไหน?
เหตุผลแรกคือ “คดีมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง” ไม่อยู่ในข้อใดใน 5 ข้อที่เป็นเหตุยกเว้นไม่ปล่อยชั่วคราวครับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะตั้งข้อหาให้หนักที่สุดไว้ก่อนอยู่แล้ว มาตรา 108/1 จึงไม่ให้ใช้เหตุนี้มาเป็นเหตุไม่ปล่อยชั่วคราวครับ

แล้วปัญหาสำคัญที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมักจะไม่ตระหนักคือ ตาม พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 6 นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คดีที่จำเลยเป็นฝ่ายที่ประท้วงรัฐบาล หรือเห็นต่างจากรัฐบาล ก็มีปัญหาตั้งแต่ต้นทางอยู่แล้วว่าตำรวจจะถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือได้ แล้วถ้าศาลเอาเรื่องอัตราโทษของข้อหาที่ตำรวจเป็นคนตั้ง มากำหนดเป็นเกณฑ์ว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ จะไม่ทำให้ศาลกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลไปด้วยหรือ?

ส่วนเหตุผลที่ 2 ที่ว่า “จำเลยอาจไปก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับความผิดที่ถูกกล่าวหาอีก” ก็ไม่มีอยู่ในข้อหนึ่งข้อใดใน 5 ข้อของมาตรา 108/1 เช่นกันครับ มีแต่ข้อ (3) ที่คล้ายกันที่เขียนว่า “ผู้ต้องหาหรือจําเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น” แต่มาตรา 108/1 (3) ใช้คำว่า “จะไปก่อเหตุอันตราย ประการอื่น” ไม่ใช่ประการเดิมที่เป็นเหตุให้ถูกตั้งข้อหา ว่าง่ายๆ คือการกลัวว่าจำเลยจะไปทำผิดซ้ำ ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่ให้ประกันตัวครับ
สรุปคือ เหตุผลในการไม่ปล่อยชั่วคราวในคดีนี้ไม่อยู่ในเหตุยกเว้นที่จะไม่ให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ครับ และที่น่าจะมีปัญหาในทางกฎหมายอีกประการคือ มาตรา 108/1 วรรคสองกำหนดให้ศาลที่ไม่ปล่อยชั่วคราวต้อง “แสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าว ให้ผู้ต้องหาหรือจําเลยและผู้ยื่นคําร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบ เป็นหนังสือ โดยเร็ว” ซึ่งเท่าที่ผมทราบมา มีแต่ลายมือเขียนในคำร้องแบบที่เอารูปให้ดูนี้ อย่างนี้จะถือได้ว่าเป็นการแจ้งให้ทราบเป็น หนังสือ แล้วหรือครับ?
รัฐธรรมนูญมาตรา 188 วรรคสองบัญญัติว่า “ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมี อิสระ ในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง” ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้รัฐบาลหรือใครมาสั่งศาลได้ ประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาลก็จะมีหลักประกันว่าจะได้รับความคุ้มครองจากศาลครับ

ด้วยความเคารพ จำเลยจะผิดหรือถูกเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ต้องไปสู้กันในศาล แต่เรื่องแรกก่อนเรื่องอื่นคือ ศาลพึงต้องยึดถือรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการพิจารณาคดี ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คุ้มครองผู้ต้องหาหรือจำเลยให้มีสิทธิในการสู้คดีนอกคุกก่อนศาลพิพากษาครับ

#ปัญหาการไม่ปล่อยชั่วคราว หรือ #ไม่ให้ประกันตัว ที่ไม่เป็นไปตาม #ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560…

Posted by Prinya Thaewanarumitkul on Monday, April 5, 2021

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image