พรุ่งนี้! สำนักงบฯ ส่ง ร่าง พ.ร.บ.งบปี’65 เข้าครม. ชี้ มีงบกลางเผื่อใช้สู้โควิด1.3 แสนล้าน

พรุ่งนี้! สำนักงบฯ ส่ง รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 เข้าครม. ชี้หากมีโควิดระบาดรอบ 4 ดึงงบกลางกว่า 1.3 แสนล้านใช้ได้ ยันมีเม็ดเงินลงทุนเกิน 7 แสนล้านบาท

เมื่อวันที่ 19 เมษายน นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ในวันที่ 20 เม.ย.2564 สำนักงบประมาณจะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อขอจัดทำเอกสารงบประมาณ โดยวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น ประมาณการณ์รายได้ 2.4 ล้านล้านบาท และการกู้งบประมาณขาดดุล 700,000 ล้านบาท

“ถ้าหากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบที่ 4 เกิดขึ้น ทางรัฐบาลยังมีงบกลางที่จะสามารถดึงมาใช้ได้อีก 89,000 ล้านบาท รวมทั้งงบกลางฉุกเฉินเมื่อจำเป็นที่สำรองไว้สำหรับภัยพิบัติ ประมาณ 50,000 ล้านบาท ที่จะมาช่วยเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิดถ้าจำเป็น”นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ในช่วงการการอภิปรายงบประมาณประจำปี 2565 วาระ 1 และ 2 จำนวน 120 วันนั้น จะมีการตั้งกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 โดยถ้าหากในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือสิ้นสุดเดือนส.ค. กรรมาธิการเห็นว่าสถานการณ์โควิด-19 ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง ก็จะให้สามารถปรับลดงบประมาณของส่วนราชการมาจัดทำเป็นงบกลางรายจ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติโควิด-19 ได้

“ปีที่แล้วรัฐให้แต่ละหน่วยงานปรับลดรายจ่ายมาเป็นงบกลางเพื่อแก้โควิดรวมกันประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยปีนี้ถ้าหากให้แต่ละหน่วยงานปรับลดงบจริง อาจจะได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท เนื่องจาก งบประมาณปี 2565 น้อยกว่าปี 2564” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

Advertisement

ทั้งนี้ตอนออกหลักเกณฑ์ปีงบประมาณ 2565 ได้ขอให้ทุกส่วนราชการปรับเป้าหมายเพื่อให้สอดคล้องกับงบประมาณที่มีอยู่ เช่น อบรม ต้องเปลี่ยนวิธีเป็นออนไลน์ เป็นต้น ส่วนโครงการที่ทำอยู่เดิมหากไม่สัมฤทธิ์ผลอาจจะต้องปรับลดงบประมาณลง

“อย่างไรก็ตามหากจะให้ส่วนให้แต่ละหน่วยงานปรับลดงบมากกว่านี้ก็เหลือแต่กระดูกแล้ว เพราะตอนนี้ปรับลดจนถึงรายจ่ายที่มีความจำเป็นจริงๆ แล้ว ซึ่งงบประมาณที่ลดลงไม่ได้กระทบกับงบสวัสดิการของประชาชน”นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

ส่วนการลงทุนในปีงบประมาณ 2565 มีงบประมาณอยู่ที่ 6.24 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่า 20% ที่กฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้แล้ว แต่ยังน้อยกว่าการกู้ชดเชยการขาดดุล ซึ่งเรื่องนี้ทางรัฐบาลอธิบายแล้วว่า จะใช้การลงทุนในรูปแบบอื่นเข้ามาชดเชยการลงทุนตามปกติของรัฐบาล เช่น การร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือ พีพีพี การลงทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF ซึ่งทำให้เม็ดเงินการลงทุนจริงของรัฐบาลมากกว่า 7 แสนล้านบาท

ในขณะที่การกู้เงินเพิ่มเติมจากพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หรือไม่นั้น เดิมตามวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ว่าหนี้สาธารณะจะต้องไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ซึ่งในภาวะปกติสามารถใช้เกณฑ์ได้ ส่วนในช่วงที่โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่นั้นถ้าจะมีการกู้เงินเพิ่มอาจต้องมีการขยับเพดานวินัยการเงินการคลังด้วย

“กระทรวงการคลังจะต้องจัดประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นต้น ว่าควรจะขยับเพดานขึ้นเท่าไหร่ เมื่อขยับเพดานกู้แล้วนำเงินไปทำอะไรบ้างจะพยุงเศรษฐกิจหรือเยียวยาประชาชนยังไง” นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image